000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > ระบบเสียง PA > เครื่องเสียง PA > เลิกทำแผ่น CD ได้แล้ว
วันที่ : 13/01/2016
6,515 views

เลิกทำแผ่น CD ได้แล้ว

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ปัจจุบันแหล่งรายการเพลงที่ครองตลาดคือแผ่น CD ซึ่งแพร่หลายเร็วที่สุดนับจาก 30 ปีที่แล้ว และขยายวงกว้างขวางที่สุด

                ปัจจุบันระบบสื่อสารทันสมัยขึ้นมากทำให้การโอนถ่ายข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต (download) มาแรง และกำลังคืบคลานกลืนกินตลาด CD มากขึ้นๆ จนธุรกิจขายและให้เช่าแผ่น CD (และแผ่นหนัง DVD) ต้องล้มหายตายจากกันไปเจ้าแล้้วเจ้าเล่า ที่เหลืออยู่ก็ร่อแร่เต็มทน ไม่ว่า HMV, Tower Record ฯลฯ

                ในการดาวน์โหลดเพลง (หนัง) จากเว็บไซต์ มีทั้งเว็บผี, และเว็บที่เราต้องเสียเงินทั้งแบบเช่า (มาฟังในระยะเวลาที่กำหนด หรือตามจำนวนครั้ง) และแบบซื้อขาด คุณภาพเสียงของแต่ละเว็บก็ต่างกันไป บางเว็บจะมีให้เลือกว่าจะเอาคุณภาพแค่พอฟังได้, ฟังดี, ฟังระดับมาสเตอร์ ด้วยสนนราคาต่างกันไป

                นอกจากนั้น ยังมีการใช้โปรแกรม “แบ่งปัน (share)” กันเองระหว่างผู้ใช้คอมฯ ด้วยกัน ซึ่งจริงๆ ถือว่าผิดเช่นกัน เคยมีการตามจับจากเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว ก็ไปพบเด็กแค่อายุ 10 ขวบ, หรือคนแก่อายุ 70 ปี ฟ้องร้องกันเป็นเรื่องเป็นราวจนสังคมเน็ตกระหน่ำด่าเจ้าของลิขสิทธิ์ จนดูเหมือนว่าจะไม่มาตามจับกันให้เอิกเกริกแล้ว แต่ใช้วิธีลดราคาค่าดาวน์โหลดลง

                ด้วยความสะดวกในการดาวน์โหลดจากเน็ต ที่ทำได้ทั้งสมาร์ทโฟน (ที่ราคาแค่สามพันกว่าบาทก็ทำได้แล้ว) หรือดาวน์โหลดจากเครือข่ายมือถือ (ไม่เกี่ยวกับเน็ตโดยตรง) และโดย PC หรือแม้แต่ทีวี LCD, Plasma, เครื่องเล่น Blu-ray (BD) บางรุ่น และเครื่องเล่นพกพา mp3

                พูดง่ายๆ ว่า ยังจะมีใครอีกไหมที่จะยอมเสียเวลา, ลำบากไปวิ่งหาซื้อ “แผ่น” ขณะที่สามารถค้นหาและคลิกสั่งซื้อ (เช่า, ขาด) เพลงได้ทันที ทุกเวลา ที่ไหนก็ได้จากเว็บไซต์เพลงทั้งหลาย

                ปรากฏการณ์บูมการดาวน์โหลด ทำให้ผู้ผลิตเครื่องเล่น CD, DVD (CD) เริ่มล้มหายตายจาก หยุดการผลิตไปกว่า 95% แล้ว (ในผู้ผลิตป้อนตลาดโลกมากที่สุดในโลกอย่างประเทศจีน) ที่เหลืออยู่จะเป็นโรงงาน หรือยี่ห้อเล็กๆ ที่เน้นคุณภาพเครื่องระดับไฮ-ไฟหูทอง ราคาร่วม 2 หมื่นบาทขึ้นไปถึงระดับไฮเอนด์, ซุปเปอร์ไฮเอนด์เป็นร่วมแสนบาทถึงกว่าล้านบาท สำหรับผู้ที่ต้องการคุณภาพดีที่สุดจากแผ่น CD, SACD

                ในทางทฤษฎีแล้ว ผมเชื่อว่า ถ้าจูนกันอย่างรู้งานจริงๆ ทั้งการเก็บเพลง (หนัง) ลงตัวเก็บ (Server) และการปล่อยดาวน์โหลดเสียงที่ได้เมื่อมาถึงผู้บริโภคควรจะดีได้อย่างที่สุด แต่ในความเป็นจริง ระบบดิจิตอลเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่งยวด และปราบพยศยากมากๆ โดยเฉพาะปัญหาคลื่นแม่เหล็กความถี่สูงจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ดิจิตอลทุกๆ ชิ้น ทุกขั้นตอน อันทำให้คุณภาพเสียง และมิติความเป็นดนตรี, เสน่ห์ แทบหายไปหมด เหลือแต่ “เสียงที่สักแต่ดัง และเอะอะก็ชัดไปหมด” จนขาดวิญญาณ เพราะเหมือนมีบุคลิกเดียว แบนๆ บางๆ แช่ตลอด ไร้ทรวดทรง ลำดับตื้นลึก การดาวน์โหลดจากเว็บจะเป็นแบบนี้ทั้งหมด

                น่าเศร้าที่คนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้ฟัง “เสียงที่ถูกต้อง” จากระบบแอนะลอกเก่า และคิดว่า “เสียงจากระบบดิจิตอล” มันก็ได้แค่นั้น ไม่มีทางดีกว่านั้น โดยเฉพาะจากเว็บ พวกเขาจึงเน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ ลิงโลดที่การเข้าไฟล์ MP3 (ที่ยังแบ่งคุณภาพลดหลั่นกันลงไปอีก) ช่วยให้เขาเก็บเพลงไว้ฟังในหน่วยความจำได้เป็นร้อยๆ พันๆ เพลง หรือเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ PC ที่บ้านได้เป็นหมื่นเพลง

                ในการพกพา อุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บเพลงจะมีทั้งใส่ใน thumb drive (USB) หรือเก็บไว้ในมือถือ (smart phone), เครื่องเล่น MP3 พกพา (iPod), Tablet (เช่น iPad, Galaxy Tab) เวลาจะฟังก็เอา Thumb Drive หรือโทรศัพท์มือถือ, เครื่องพกพา, Tablet มาเสียบกับช่อง USB ของเครื่องเสียง หรือผ่านระบบไร้สายเข้าเครื่องเสียง, จอภาพ (WiFi, Bluetooth) คุณภาพเสียง, มิติเสียง 90 เปอร์เซ็นต์ของการฟัง CD จาก T+A D10 ราคาประมาณ 3 แสนบาท ถ้าฟังจากเครื่องเล่นอื่นๆ ก็ได้คุณภาพลดหลั่นลงไป แต่ที่แน่ๆ น่าจะไม่แพ้ฟังจากเครื่องเล่น CD ระดับ 3 หมื่นบาทแน่ๆ (แม้ฟัง USB จากเครื่องเล่น DVD/USB อย่าง SOKEN 480 (เก่า) ราคา 1,990 บาท)

                ถ้ารูปการยังเป็นแบบนี้ คุณคิดว่า ระบบ CD ควรเริ่มนับถอยหลังหรือยัง...!

                ที่สำคัญที่สุดอันเป็นจุดประสงค์หลักของบทความนี้ (climax) คือ ถ้ามีการวางขายอัลบั้มเพลงทั้งในรูปแบบ CD และ SD การ์ด (ควรใช้ sandisk มิติดีกว่าเพื่อน) โดย SD การ์ดถ่ายจากมาสเตอร์เลย (ไม่ใช่การถ่ายจาก CD) คุณว่าคุณภาพเสียง, มิติเสียงที่ได้จะอลังการงานสร้างขนาดไหน น่าจะเทียบเท่ากับฟังจากเครื่องเล่น CD แยกชิ้นระดับล้านกว่าบาทได้เลย (จากเครื่องเล่นการ์ด 2 หมื่นเศษ DN-F300) หรือฟังจากเครื่องเล่น DVD SOKEN 480 (1,990 บาท) เหมือนฟังจาก CD ระดับ 5-6 หมื่นบาท

                เอาไปฟังในรถ SD/USB นี้ก็จะเสกเครื่องเล่น CD/USB รถยนต์ระดับ 4,900 บาท ให้ได้คุณภาพเสียงดีกว่าฟัง CD อัลบั้มเดียวกันจากเครื่องเล่น CD ระดับ 7 หมื่นกว่าบาทถึงแสนกว่าบาท

                ต่อให้ดาวน์โหลดจากเว็บด้วยอัลบั้มเดียวกัน (จากมาสเตอร์ด้วย) ก็เชื่อว่า ไม่น่าจะสู้ฟัง SD/USB (จากมาสเตอร์) นี้ได้ เพราะอย่าลืมว่า การผ่านระบบอินเตอร์เน็ต, การดึงข้อมูลด้วย PC (หรืออุปกรณ์อื่นใดในลักษณะดึงข้อมูลมา ย่อมมีจุดอ่อนมากกว่าการฟังจากการ์ดโดยตรงแน่ๆ) นอกจากอุปกรณ์ในการปล่อยข้อมูล และอุปกรณ์รับข้อมูลนั้นจะมีการออกแบบโดยคำนึงถึงการรบกวนจากคลื่นความถี่สูง, การพิถีพิถันเรื่องสายต่างๆ, ทิศทางฟิวส์, อุปกรณ์, สายสารพัด (ดังที่ผู้เขียนกระทำกับ Denon DN-F650R มาแล้ว ต้องเรียกว่า ก่อนเจาะแจะภายในกับหลังจัดสายต่างๆ คุณภาพเสียงต่างกันอย่างกับฟ้ากับเหวเลย...!)

                สรุปก็คือ ถึงเวลาแล้วที่เราจะเลิกฟังจาก CD ที่มีจุดอ่อนเรื่องกลไกการบันทึกแผ่นและอ่านแผ่น การสั่นสะเทือน (แม้น้อยนิดที่สุดแค่ไหน) (เครื่องเล่น CD แยกชิ้น เฉพาะส่วนกลไกเล่นแผ่น หรือ transport ราคาก็ 7-8 แสนบาทแล้ว...!) ยิ่งถ้าเป็นการฟังในรถ, พกพา ยิ่งจบเลยกับการเล่น CD นี่คือ สาเหตุที่การ์ดไร้กลไกให้คุณภาพกินขาดได้ ด้วยราคาที่ถูกกว่ามหาศาล คือการขี่กันด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่า

                เท่าๆ กับถึงเวลาแล้วที่จะมีค่ายเพลง นำเสนออีกทางเลือกหนึ่งของการฟังเพลงในรูปการ์ดความจำ (อาจมี 2 ราคาแบบ LPCM 24-bits 96kHz) ไม่มีการย่อสัญญาณ, กันแบบ MP3 320kbps 16-bits 44.1kHz)

                ส่วนปัญหาการนำไปก็อปปี้ขายก็อาจใช้ระบบผู้้ซื้อลงทะเบียนสมาชิก และจะมีการใส่รหัสประจำตัวผู้ซื้อไว้ในการ์ดด้วย ถ้าวันใดมีการ์ดก็อปปี้ออกมาวางขาย ก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่า มาจากการ์ดแท้ที่ใครซื้อไป พูดก็พูดเถอะ สมมติ การ์ดความจุ 2GB บันทึกมาให้ถึง 10 อัลบั้ม และขายราคาสมเหตุสมผล ไม่โก่งมาก คงไม่มีใครอยากไปซื้อการ์ดผีหรอก

 

หมายเหตุ

                ข้อดีของการใช้การ์ดไม่มีส่วนใดเคลื่อนไหว ทำให้เหนือกว่าระบบแผ่น ไม่เฉพาะแต่กับเรื่องเสียง แต่กับภาพก็มีผลเช่นกัน แม้จะเปลืองเนื้อที่ในการเก็บข้อมูลมากกว่าเสียงอย่างเดียวมากอาจต้องใช้การ์ด SDHC (สูงสุด 32GB) หรือ SDXC (สูงสุด 64GB)

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459