000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > เลือกสายอย่างเซียน
วันที่ : 14/11/2017
25,970 views

เลือกสายอย่างเซียน

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ยังไงๆ ในชุดเครื่องเสียงก็ต้องมีสาย อย่างน้อยที่สุดก็สายไฟ AC สายลำโพง สายเชื่อมต่อเสียง (Interconnect) อาจมีการคัดลอก กรณีส่งข้อมูลผ่านระบบไร้สาย (คลื่นวิทยุ) ซึ่งไม่แนะนำเลย ถ้าเลี่ยงได้ พยายามใช้ระบบสาย ไม่ว่า สายไมค์, สายเสียงจากเครื่องเล่น เพราะการเชื่อมต่อด้วยคลื่นวิทยุ คุณภาพเสียงหายไปเยอะ สุ้มเสียงไร้วิญญาณขึ้น ทรวดทรงเสียงแบน เวทีตื้น

ทำไมสายถึงมีผล

                ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า สายทุกเส้นเปรียบเหมือนวงจรไฟฟ้าอันหนึ่ง ดุจประกอบด้วยตัวต้านทาน (R), ตัวเก็บประจุ (C), ตัวขดลวด (L)

                - ค่าตัวต้านทาน ขึ้นอยู่กับวัสดุตัวนำที่ใช้

                - ตัวเก็บประจุและตัวขดลวดขึ้นอยู่กับโครงสร้างการจัดสายตัวนำภายในและฉนวน

                นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับ

                - ฉนวนที่ใช้ (ต่อภายในตัวเอง และต่อสิ่งเร้าภายนอก เช่น RF, โลหะ)

                - การสั่นสะเทือนที่มีผลต่อมันและจากภายในตัวมันเอง

                - การปิดผนึกกัน RF กวน

ตัวแปรทางกายภาพ

                - ขนาดของสิ่งต่างๆ

                - คุณภาพของวัสดุตัวนำ, ชนิดตัวนำ

                - คุณภาพฉนวน และ Shield ต่อ RF

                - คุณภาพวัสดุลดการสั่น

                - คุณภาพหัวปลั๊ก (ตัวผู้/เมีย), หัวเสียบ

บางท่านพูดว่า

ไม่จำเป็นต้องใช้สายดีๆ หัวดีๆ แพงๆ หรอก ฟังไม่ออก

                - เห็นด้วยครับ ถ้าคุณฟังไม่เป็น

                - หรือชุดคุณจูน, ติดตั้งไม่ถูกต้อง (ดูการจูนในรายงานทดสอบ RT-1 ตอน 3 ในเว็บนี้

                - สายที่มาฟังเทียบทดสอบ เลวร้ายทั้งคู่จนแยกความเลวไม่ออก

บ้างก็ว่าไม่จำเป็นต้องใช้สาย, หัวดีๆ เขาสามารถออกแบบวงจรไฟฟ้าชดเชยให้ได้เสียงตามที่สายช่วยได้ ถูกกว่าเยอะ

                - คุณสมบัติของสายเปลี่ยนไปมา (แกว่ง, ไม่อยู่นิ่ง หรือ Dynamic) ตามลักษณะของสัญญาณ ที่เข้ามา (ที่แกว่งเช่นกันหรือ Dynamic) รวมทั้งการถูกรบกวนจากสิ่งเร้าภายนอกที่เอาแน่นอนไม่ได้ (ไม่นิ่ง) จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะ แก้ปัญหาด้วยวิธีแบบนิ่งตายตัว (ปรับจูนอุปกรณ์ในวงจร) หรือใช้วิธี Static ไปแก้ปัญหา Dynamic ในด้านตรรกวิทยา (Logic) มันก็ผิดแล้ว แสดงว่า ผู้พูดยังฟังไม่เป็น สับสนและเข้าใจอะไรผิดอีกเยอะ

อิทธิพลของสายเส้นนั้นๆ ยังขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่มันต่อพ่วงอยู่ด้วย

                สังเกตว่า ยิ่งเครื่องเล่นแผ่นดีๆ ระดับไฮเอนด์ ปรีดีๆ เพาเวอร์แอมป์ดีๆ เรามักพบว่า ถ้าสายไม่เลวร้ายจนเกินไป ก็มักจะพอนำมาใช้ได้อย่างไม่ถึงกับอุบาทว์หู (แต่ยังไงๆ ก็ยังสู้สายดีๆ ไม่ได้)

                แต่ถ้าอุปกรณ์เหล่านั้นคุณภาพต่ำ เรามักจะพบว่า สายมีอิทธิพลสูงมากเพราะอุปกรณ์ดีๆ มักถูกออกแบบมาให้ “เผื่อ” ไว้เยอะ ไม่กลัวหรือไม่เป๋เมื่อต้องทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ สายจึงมีผลลดลง

สายเองก็มีบุคลิกส่วนตัว

                เครื่องเสียงที่ดี ควรปราศจากการแต่งเติม เสริมแต่ง จนมีเสียงของตัวมันเอง ไม่ใช่แค่หน้าที่ถ่ายทอดเข้ามาอย่างไร ออกไปอย่างนั้นอีกต่อไป

                เมื่อสายเองก็เหมือนวงจรไฟฟ้าอันหนึ่ง (Equivalent Circuit) แน่นอนว่า มันย่อมมีผลต่อเสียงหรือสัญญาณที่วิ่งผ่านมัน ไม่มากก็น้อย ถ้าเรายึดแนวว่า สายมีหน้าที่ถ่ายทอดอย่างใสซื่อที่สุด สายที่ใส่วงจรไฟฟ้าไม่มากก็น้อยอยู่กลางสาย ก็ย่อมและยิ่ง ใส่บุคลิกเข้าไปมากขึ้น ความเป็นกลางลดลง ความโปร่งทะลุลดลง (Transparency แย่ลง) สายทำนองนี้ก็เหมือนใส่วงจรกรองความถี่เสียงเข้าไปอย่างแรง จากปกติจะเป็นแค่วงจรเสมือน จากวัสดุและโครงสร้างสายที่กล่าวแล้ว สายประเภทมีวงจรใส่เข้าไป มักทำการกด, ทอน ความถี่กลางสูงไล่ถึงสูง เพื่อให้เหมือน เสียงกลางต่ำและทุ้ม มีปริมาณมากขึ้น (แต่แน่นอน ต้องเร่งดังขึ้นกว่าปกติ เพื่อชดเชยกลางสูงและสูงที่ลดลง)

                สายประเภทมีกระเปาะ, กล่องวงจร กลางสาย อาจไม่ใช่สิ่งเลวร้ายมากนัก มันอาจช่วยชุดที่เสียงบาง, จัดจ้าน, ผอม, ให้เสียงอวบอิ่ม มีมวล เนื้อหนังมากขึ้น ทุ้มอิ่มมหึมาขึ้น ฟังหวานกลมกล่อมขึ้น แต่ให้สังเกตว่า ความโปร่งทะลุของเสียงจะลดลงมาก (Less transparency) เสียงจะขุ่นขึ้น ปลายแหลมลดประกายลง (ลด Sparkle) ที่ชัดๆ คือ ทรวดทรงมิติเสียง ไม่เป็นธรรมชาติ เวทีเสียงตื้น-ลึกแย่ลง ความกังวานไม่โปร่ง (ออกขุ่น) ความกระชับลดลง (Damping factor ลดลง) การสวิงเสียงอยู่ในกรอบหนึ่ง (Compressed) ไม่อิสระ การไล่เสียงอ่อนแก่ลดลง (Less dynamic contrast) คิดว่าถ้าชุดมีปัญหาเรื่องเสียง ลองแก้ที่จุดอื่นๆ ก่อนน่าจะดีกว่า หาสายที่มีบุคลิกมาแก้ (เหมือนเอาความพิการมาแก้ความพิการ)

                บางยี่ห้อ ถึงขนาดมีปุ่มหมุน ปรับเสียง ทุ้ม, กลาง, แหลมกันเลย มันคือ Passive Equalizer ดีๆ นี่เอง (ดูเรื่อง Equalizer น้ำผึ้งหรือยาพิษ ในเว็บนี้ ส่วน บทความ) กลับไปสู่แนวคิดการปรับเสียงลำโพงในอดีต เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งก็ล้มเหลว ไม่มีใครใช้

                มีความจริงอยู่ 1 ข้อ อะไรที่ดีจริง มักอยู่ยั้งยืนยง และคู่แข่งเพื่อนฝูงในท้องตลาดต้องพยายามทำเลียนแบบ (โดยเลี่ยงเรื่องลิขสิทธิ์ อย่างเป็นงาน)

สายใช้วัสดุตัวนำ ชนิดเดียวกันเลย เทคโนโลยีเดียวกัน ทำไมเสียงต่างกันคนละเรื่องเลย

                ยกตัวอย่าง สายญี่ปุ่น FURUKAWA ใช้ทองแดง PC-OCC เป็นเจ้าต้นตำรับของโลกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ต่อมาประเทศอื่นทำออกมาบ้าง ขบวนการคล้ายกัน แต่ใช้ชื่อว่า PC-OCC ไม่ได้ (ติดลิขสิทธิ์) ปรากฏว่า เสียงสู้ต้นตำรับไม่ได้ เป็นไปได้ว่า เพราะตำแหน่งผู้ผลิตต่างกัน (จากแผนที่โลก) ผลของสนามแม่เหล็กโลกขณะทำการผลิตต่างกัน (อย่าลืมว่า การรีดระดับ PC-OCC โมเลกุลทองแดงเกือบเป็นผลึกไปแล้ว)

                ฉนวนสายก็มีผลอย่างมาก แต่จะเกี่ยวกับความเป็นตัวเก็บประจุ และตัวขดลวด ฉนวนยังมีผลต่อคลื่นความถี่สูงรบกวนด้วย (RF)

การมีแผ่นโลหะหรือตาข่ายโลหะห่อหุ้มไปตลอดสายที่เรียกว่า Shield (ปิดผลึก)

                Shield มีผลดีในการป้องกันคลื่น RF จากภายนอกมารบกวน หรือรั่วเข้ามาสู่ตัวนำสาย และส่งผลถึงอุปกรณ์ที่สายต่ออยู่อีกที

                แต่ Shield กลับส่งผลให้เส้นแรงแม่เหล็กที่เกิดขึ้นในสายตัวนำ (ขณะสัญญาณหรือกระแสวิ่งผ่านสาย) ถูกตราสังข์ เกิดการก้องของเส้นแรงแม่เหล็ก เสียงจะเหมือนถูกบีบอัด, กด วินาทีแรกอาจเหมือนดี แต่แค่ 10 วินาทีผ่านไป เสียงจะถอยจมติดจอ เหมือนอู้ สวิงไม่ขึ้น บางคนฟังแล้วเข้าใจผิดว่า อบอุ่น หวานขึ้น จริงๆ คลุมเครือ มั่วขึ้น ทึบขึ้น

                Shield จึงใช้ได้กับสายส่งสัญญาณระดับต่ำๆ เช่น สายเสียง (Interconnected) ไม่เหมาะกับสายไฟ AC และสายลำโพง

                อย่างไรก็ตาม ถ้าตัวนำ (เช่นทองแดง) คุณภาพสูงมากๆ (เช่น PC-OCC) ส่งผ่านกระแสได้ฉับไวที่สุด ฉนวนและ Shield จะมีผลลดลง

กระบอกโลหะ ร้อยอยู่ในสาย โดยเฉพาะสายไฟ

                จริงๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ จะเกิดปัญหาแบบเดียวกับ Shield เสียงจะอั้น ตื้อ สับสน โดยเฉพาะช่วงสวิงแรงๆ ไม่ทราบว่าทำไมถึงชอบใส่กันนัก ได้แค่สวย เท่ เรียกราคาได้เท่านั้น

สายเสียง (Interconnected) ซ้าย, ขวา ห้ามเชื่อมตีคู่มาด้วยกัน

                ช่วงสัญญาณโหมดังๆ ดนตรีหลายๆ ชิ้น สัญญาณจากสายซ้าย, ขวาจะแผ่ออกมาตีรวนกัน เสียงจะกลับหุบลงและมั่วสับสนขึ้น โดยเฉพาะสายเสียงในรถยนต์ชอบใช้แบบนี้กันนัก เครื่องเสียงชุดหนึ่งหลายๆ แสนมาตายน้ำตื้นตรงนี้ ต้องแยกอิสระซ้าย, ขวา คนละเส้น และห้ามแตะกัน

สายลำโพงไบ-ไวร์สำเร็จรูป...โยนทิ้งได้เลย

                สายลำโพงที่แยก 2 ชุด เพื่อเข้าชุดแหลมของตู้ลำโพง 1 ชุด เข้าชุดเสียงทุ้มอีก 1 ชุด (เข้า 2 ออก 4) ไม่ควรใช้อย่างยิ่ง เพราะสนามแม่เหล็กจากทั้ง 2 ชุดจะแผ่ออกมารบกวน ตีรวนกันเอง เสียงจะอั้น, ตื้อ, สับสน หรือช่วงกลางๆ แถว 1 kHz – 1.2 kHz จะออกแจ๋น จัดจ้าน ที่ถูกต้องแยกอิสระ 2 ชุด ไม่ให้แตะกัน (แตะกันได้ที่เดียว หลังแอมป์)

สายลำโพงแบบถัก จะให้เสียงที่เหมือนเข้าท่า...แต่อันตรายยิ่ง

                สายลำโพงถัก จะให้ค่าความเป็นตัวเก็บประจุเยอะ จะมีปัญหากับลำโพงที่ความต้านทานเชิงซ้อนออกไปทางเป็นค่าตัวเก็บประจุสูง เช่น ลำโพงอิเล็คโตรสแตติค เปิดดังๆ ที่ความถี่สูงๆ จะเหมือนแอมป์ถูกลัดวงจรที่ขาออก (ช้อต) อาจพังได้ ถ้าวงจรป้องกันไม่ดีพอ ถึงไม่พัง แอมป์ก็ทำงานไม่เสถียร นอกจากแอมป์ดีจริงๆ เท่านั้น

มีการนำเม็ดแม่เหล็ก หรือวงแหวนแม่เหล็กมาใส่ไว้รอบๆ สายหรือรอบๆ หัวเสียบ (ปลั๊ก) มันดีอย่างไร

                หลักการนี้คือ พยายามใช้ความแรงของเส้นแรงแม่เหล็ก บีบ-กด ให้สัญญาณไฟฟ้า, กระแสไฟฟ้า ที่วิ่งอยู่ในตัวนำ (ในสาย) ไม่ว่าที่วิ่งอยู่ที่ผิวของเส้นตัวนำ (พวกความถี่สูง), ที่วิ่งอยู่ในเนื้อหน้าตัดของตัวนำ (พวกความถี่กลางสูงลงต่ำ), ที่วิ่งอยู่เส้นแกนกลางของตัวนำ (พวกความถี่ต่ำๆ) ถูกบีบกดรัดให้รวมอยู่ในแกนกลางทั้งหมด (ทั้งทุ้ม, กลาง, แหลม) เพื่อให้ทุกความถี่เสียงวิ่งมาพร้อมๆ กัน (พอๆ กัน ตัดปัญหาที่เรียกว่า Skin effect หรือ linear time) ผลคือ เสียงที่สด เข้มข้น ตื่นตัวได้ตลอด ทุ้ม, กลาง, แหลม จะมาพร้อมๆ กัน ฟังสด มีชีวิตชีวาดีมาก (ถ้าทำอย่างถูกต้อง, ลงตัว) อย่างไรก็ตาม อาจต้องแลกมาด้วยรายละเอียดหยุมหยิมของความถี่คู่ควบ (Low Level Harmonics) ถูก “รีดจนเรียบ” ลดความมีวิญญาณ และการแยกแยะความแตกต่าง (ของเสียงร้อง 2 คน, ดนตรีเหมือนกัน 2 ยี่ห้อ) อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเรื่องของรสนิยมความชอบ ถ้าชอบอะไรที่ LIVE สดๆ จริงจัง ถึงลูกถึงคน เป็นหลัก วิธีนี้ก็ใช่เลยแม้ราคาจะออกสูงเอาเรื่อง (มีการทำทั้งกับ สายเสียง, สายลำโพง, สายไฟ) อย่างไรก็ตาม เป็นสายที่น่าหามาลองฟังดู คุณอาจชอบและติดใจได้ง่ายๆ

สายกับหัว...ใครมีผลกว่า

                ฝรั่งนักออกแบบสายเคยถูกถามและเขาให้น้ำหนักแก่หัวมากกว่า แต่ผมว่า มีความสำคัญทั้งคู่

สายดี/หัวดี VS สายถูก/หัวถูก

                มีอีกสิ่งที่ควรตระหนัก สายถูกๆ หัวถูกๆ ใช้ๆ ไปสายจะเสื่อมคุณภาพลง ทั้งตัวนำและฉนวน (บางครั้งฉนวน, ปลอก ละลายเยิ้ม) ตัวนำขึ้นสนิม, ดำ/เขียว หัวขึ้นขี้เกลือ แรงบีบหนีบหมด เสียบได้ไม่แน่น (เกิดการสปาร์ค การต้องโดดข้ามของสัญญาณ, ของไฟ) หัวเกิดการสั่นคลอน คุณภาพเสียงแย่ลงทุกวัน จึงอยากแนะนำอย่างยิ่งว่า อย่าขี้เหนียวกับพวกสายต่างๆ อย่างน้อย เอาที่ปานกลางขึ้นไป ไม่ต้องแพงจัดก็ได้

สายที่ดูดีมหึมา สง่า อลังการงานสร้าง...มักเป็นสายดีเสมอหรือ

                ตรงข้าม มักพบว่า สายแฟนซี พวกนี้ จะให้บุคลิกเสียงที่รุนแรง จนบ่อยๆ ที่กลบบุคลิกของอุปกรณ์ที่มันต่อใช้อยู่ บางเส้นฟังครั้งแรก ตื่นเต้น เร้าใจ แต่ฟังนานๆ น่าเบื่อ เลี่ยน เพราะจำเจ เสียงเดียวตลอด เหมือนใส่แว่นตาสีดูทีวี

สายทุกเส้นมีทิศทาง แม้แต่ปลอกที่สวมอยู่

                มีสายดีๆ ที่ตายน้ำตื้น เพียงเพราะนำมาเข้าหัวผิดทิศ (เช่นสายไฟ AC) หรือสายบาลานซ์ การทดสอบสาย จึงต้องลองทั้งเสียบตามทิศ และเสียบย้อนทิศ (ถ้าเสียบได้)

สายบาลานซ์ (เสียง) น่าใช้ไหม

                จริงๆ สายบาลานซ์ ให้การรบกวนต่ำ เสียงจะเงียบ สงบ สงัดกว่า และบุคลิกส่วนตัวจะน้อยกว่าสายชนิดเดียวกันแต่เป็น Unbalanced (หัว RCA) เสียแต่ว่า สายบาลานซ์ เราฟังทดสอบทิศทางสายไม่ได้ (หัวเสียบเข้า, ออกต่างกัน)

สายซ้าย, ขวา จำเป็นต้องตัดเท่ากันเป๊ะไหม

                ถ้าไม่ใช่ต่างกันเป็นสิบเมตร มันไม่ควรมีผล เป็นแต่ว่า สายที่ยาวกว่าอาจเปิดโอกาสให้แตะพื้นมากกว่า ถูกสายอื่นๆ พาดผ่านโดนมากกว่า รับความร้อนจากสิ่งแวดล้อม (พื้นรถ) มากกว่า

สายไหนสั่นได้ สายไหนยาวได้

                ยิ่งสัญญาณที่ส่งผ่านมีระดับต่ำ ความยาวสายยิ่งมีผลเสียน้อย (นอกจากสายภาพ HDMI เพราะความถี่สูงมากๆ เป็น MHz, GHz แต่ถ้าสายเสียง ยิ่งสัญญาณมีปริมาณมากๆ (เช่นสายลำโพง, สายไฟ) สายยิ่งยาวยิ่งไม่ดี ถ้าทำได้ สายลำโพงควรสั้นที่สุด แต่การยกแอมป์, เครื่องเสียงไปวางใกล้ลำโพงมากๆ การสั่นสะเทือนจากลำโพงจะก่อผลร้ายแรงมากกว่าความยาวของสายลำโพงเสียอีก

                สรุป ใช้สายเสียงยาวๆ ยิงไปแอมป์ที่อยู่ห่างออกไป และใกล้ลำโพงเท่าที่จะทำได้ เรียนตรงๆ ว่า ผมกังวลการสั่นสะเทือนมากกว่าความยาวสาย

สายภาพ, สายดิจิตอล มีทิศทางไหม

                มีเช่นกัน แต่คงสังเกตวัดจาก “ภาพ” ไม่ได้มากนัก ให้ฟังว่าทิศไหนให้เสียงเป็นตัวตน ชัดเจน หลุดลอยดีกว่า

สายดิจิตอล...ห้ามมองข้าม

                เชื่อไหมว่า สายดิจิตอล (Coaxial) ผิดทิศ เสียงนี่...หนังคนละม้วนเลย! (ตกม้าตายกันเยอะ)

สายดิจิตอล Optical ควรเล่นไหม

                ถ้าเลี่ยง, เลือกได้ ไม่ควรใช้ เสียงมักแบน, ไร้ทรวดทรง ไม่น่าฟัง ต่อให้สาย Optical แพงๆ ก็ยังสู้สาย Coaxial เกรดปานกลางที่ถูกกว่าเยอะไม่ได้

สายเสียง, สายลำโพง, สายไฟ AC…ไหนมีผลที่สุด

                สายไฟ AC             อันดับ 1

                สายลำโพง             อันดับ 2

                สายเสียง                                อันดับ 3

สายแพง คุณภาพดีกว่าสายถูกเสมอไปไหม

                วงการสายมียี่ห้อว่ากันว่า ผู้ผลิตบวกราคาขายถึง 500% (100 ขาย 500) เพื่อเป็นค่าการตลาด (ค่าเชียร์) เพราะฉะนั้น อย่าดูถูกสายที่มีราคาถูกกว่า เจอบ่อย สายยี่ห้อเดียวกัน รุ่นรองดีกว่ารุ่นใหญ่

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459