000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > รายงานบททดสอบ > เครื่องเสียงบ้าน > Pro Power AVPS 1050 (จุดจบและหัวใจอยู่ที่นี่)
วันที่ : 27/01/2017
13,318 views

AVPS 1050 (จุดจบและหัวใจอยู่ที่นี่)

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ในการเล่นเครื่องเสียงและภาพ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ระบบไฟ AC บ้านที่นำมาป้อนเลี้ยงให้แก่ชุดเครื่องเสียงและภาพ ก็เหมือนรถยนต์ ต่อให้แพงและดีเลิศแค่ไหน ถ้าใช้น้ำมันเกรดต่ำ, สกปรก ทุกอย่างก็จบ ไม่ว่าการวิ่ง, การแซง, ความนิ่ง, อายุเครื่องยนต์, เหมือนนักกล้ามมีแรงมาก กำยำ ตัวใหญ่ แต่ถ้ากินอาหารไม่อิ่ม, อาหารเป็นพิษ ยักษ์ก็ล้มได้ ขี้ไหลขี้ราดหมดรูปกันเลย

            ในชุดเครื่องเสียงและภาพ ต่อให้คุณใช้อุปกรณ์ระดับไฮเอนด์, ซุปเปอร์ไฮเอนด์, หรือแม้แต่โลเอนด์ ให้สายราคาแพงลิบ ลำโพงชั้นยอด ห้องฟังอคูสติกดีเลิศ จูนชุดระดับเทพ แต่ถ้าไฟ AC ที่ป้อนให้ชุดคุณ ขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีความนิ่งเสถียร, แถมความถี่ไฟก็แกว่งไปมา คุณภาพกระแสไม่สะอาดบริสุทธิ์ ชุดของคุณจะมีความเพี้ยนพุ่งขึ้น แบบที่คุณนึกไม่ถึงเลย และมักพาให้หลงทาง ก้มหน้าก้มตา เปลี่ยนโน่น ปรับนี่ วุ่นวายไปหมด หลายคนเสียเงินเปลี่ยน ทั้งขาดทุน ทั้งควักเงินเพิ่มเป็นแสน เป็นล้าน แล้วก็มาเจอปัญหาเดิมๆ ต้นน้ำที่ไม่มีคุณภาพ เป็นเรื่องแปลกมาก ที่นักเล่นยอมจ่ายค่าสายต่างๆ นับหลายหมื่น หลายแสนบาท นับล้านก็มี แต่พอนำเสนอระบบไฟ AC ที่ดี สมบูรณ์แบบ ด้วยหลักหมื่น, หลักแสน กลับเมินหน้า และปฏิเสธ มีไม่ถึง 10% ที่จะเล็งเห็นความสำคัญตรงนี้

            จากประสบการณ์ของผม ผมเคยใช้ตัวกรองไฟ ACCUPHASE (ดูเหมือนจะรุ่น PS 500 เป็นตัวเล็ก รับภาระได้ 500W) กับเครื่องเล่น CD Mark Levinson No.39 ยอมรับว่า PS 500 ช่วยให้รายละเอียดเสียงดีขึ้น พลังอิ่มขึ้นได้จริง มันดีมากจนผมต้องขายทิ้ง เพราะมันเป็นตัวช่วยที่เด่นชัดเกินไป

            มีเครื่องเล่น CD ยี่ห้อดังค่ายญี่ปุ่น ราคาประมาณ 8,000 บาท (เมื่อ 20 ปีมาแล้ว) นิตยสารต่างๆ (ไทย, เทศ) เชียร์กันล้นหลาม ผมจึงนำมาทดสอบ ปรากฏว่า มันก็โอเค ไม่เลว แต่ก็ไม่ดีเลอเลิศอย่างที่เชียร์กัน ตอนนั้นต่อไฟ AC ผ่าน PS 500 แต่พอต่อตรงเข้าที่กำแพง ไม่ผ่าน PS 500 ปรากฏว่าฟังไม่ได้ ทุกอย่างถอยแบน ป้อแป้ไปหมด ชิ้นดนตรีต่างๆ ในวงมั่ว เบลอ วอกแวก แกว่งไปหมด พูดง่ายๆ ตายสนิท

            ตั้งแต่นั้นมาผมตระหนักชัดว่า ไฟ AC มีผลมหาศาลต่อระบบเสียงขนาดไหน เท่าๆ กับที่จำใจขาย PS 500 ออกไป เพราะมันดีเกินไป ช่วยมากไป ใครจะซื้อเครื่องเล่น CD ราคา 8,000 บาทไปใช้ ที่ต้องเล่นกับตัวคุมไฟราคา 150,000 บาท

            จากนั้นมา ผมเจาะแจะกับระบบไฟ AC บ้านแค่พวกสายไฟ AC เครื่อง, หัวกรองไฟประหยัดอย่าง PHD2 (3,300 บาท/หัว) หรือตัวกรองไฟใหญ่ PHD POWER STATION (44,000 บาท) เต้าเสียบที่ผนัง MONITOR ACOUSTIC หมื่นกว่าบาท

            เรียนตรงๆ ว่า ผมไม่อยากไปแตะพวกตัวกรองไฟที่อ้างว่ามีระบบซับซ้อนโน่นนี่ ราคาเกิน 30,000 บาท เพราะอุปกรณ์พวกนี้ จะมีอะหลั่ยยั้วเยี้ยเต็มเครื่องไปหมด ซึ่งสร้างความข้องใจให้ผมในเรื่อง ทิศทางสาย, อุปกรณ์, การกวนกันเอง อย่างมีตัวกรองไฟยี่ห้อดังรุ่นหนึ่ง ราคาร่วม 3 หมื่นบาท ใช้แล้วมิติเสียงแย่ลง อย่างอื่นๆ ก็ไม่ดีขึ้น สรุปว่าไม่ใช้ดีกว่า (ตัวเครื่องก็ร้อนจี๋) ที่แย่กว่านั้น ขนาดไม่ใช้ แต่เสียบปลั๊กไฟ AC ของเครื่องนี้คาไว้ ไม่ได้ต่อไฟใช้อะไร กลับทำให้เสียงทั้งชุดแย่ลง! ขนาดดึงสายไฟ AC ของมันออก ก็ยังแย่ลงอยู่แต่ลดลง ยกเอาไปไว้นอกห้อง ทุกอย่างดีขึ้นเป็นปกติ คิดเอาเองก็แล้วกัน!

          อีกยี่ห้อ ราคาหมื่นกว่าบาท ก็ออกอาการเดียวกัน ผมจึงขยาดที่จะลองพวกตัวกรองไฟ AC ทั้งหลาย จนมาเจอ AVPS 1050 ซึ่งเท่าที่ทางบริษัทผู้นำเข้าอธิบายการทำงานของมันให้ฟัง และผมศึกษาจากคู่มือ ก็ยอมรับว่า “น่าสนใจ” มากทีเดียว มาดูว่าเขาใช้หลักการอะไร

  1. เขาจะนำไฟ AC บ้านมาแปลงเป็นไฟตรง DC ไว้คอยชาร์จแบตเตอร์รี่พลังสูงที่เขาให้มาด้วย เมื่อแบตไฟอ่อนลงถึงขีดหนึ่งซึ่งก็นานพอดู
  2. เขาจะนำไฟจากแบต มาผ่านวงจรแปลงกลับเป็นกระแสไฟ AC เพื่อป้อนให้เครื่องเสียงเรา
  3. ถ้าแบตไฟหมด หรือ AVPS นี้มีปัญหา เครื่องจะสวิชส์นำไฟ AC บ้านป้อนให้ชุดเครื่องเสียงเราแทนทันที

ด้วยวิธีนี้ ทำให้เป็นการแยกไฟ AC บ้าน ออกจากไฟ AC ที่ป้อนให้เครื่องเสียงแทบจะเด็ดขาด 100%

  1. ไฟ AC ที่ได้จากแบตของ AVPS จึงสะอาด บริสุทธิ์ และนิ่ง เต็มอิ่ม ไม่ขึ้นอยู่กับสถานะของไฟ AC บ้านอีกต่อไป ไม่ว่าเรื่องแรงดันไฟ ความถี่ไฟ ความสะอาดของไฟ (NOISE) (เท่าที่ดูจากสเปค ก็ถือว่า สมราคาคุย วงจรแปลง AC/DC, DC/AC ของ AVPS ไม่ก่อปัญหาเสียเอง)
  2. ถ้าไฟดับ เราก็ยังเล่นเครื่องเสียง, ดูหนังได้จนจบเรื่อง (แล้วแต่ load ด้วย) สเปคของคู่มือไม่ได้บอกว่า ใช้จากแบตได้กี่ชั่วโมง แต่สเปคจากเว็บไซต์ (www.ppowerus.com) บอกว่ารุ่น 3000 ได้นานประมาณ 2 ชั่วโมง (แล้วแต่ load) คิดว่าถ้าอยู่ในระดับ load ปกติที่ 1050 รับได้ ก็น่าจะได้ชั่วโมงพอๆ กับ 3000 (สเปคทางไฟฟ้ารุ่น 1050 เหมือนกับ 3000)
  3. ตัดปัญหาไฟตก, กระชากเกิน ที่มักทำจอพัง
  4. มีวงจรป้องกันเต็มขั้นทุกรูปแบบ พร้อมจอ LCD แสดงสภาวะของตัวเครื่อง (ไฟเข้า, ไฟออก, ความถี่ไฟ, ความร้อนของแบต, ภาวะที่เครื่องจ่ายให้ (load), เปอร์เซ็นต์แบตที่เหลือ, ปัญหาที่เกิดขึ้น)
  5. สามารถควบคุมจากภายนอกได้ และอัพเกรดโปรแกรมได้
  6. เต้าเสียบ Hubbell ทั้งผู้/เมีย, สายไฟ AC เข้า ถอดได้
  7. ขั้วเสียบ F สำหรับป้องกันฟ้าผ่าสู่ระบบสายโทรศัพท์
  8. เปลี่ยนแบตเองได้ (อายุแบต 5-7 ปี แล้วแต่การใช้งาน)
  9. มีชุดยึดเข้า RACK ได้ สำหรับงานอาชีพ

สเปคจากโรงงาน

แรงดันไฟ

220/230/240 V

ใช้ได้กับแรงดันไฟ AC

160 – 275 V

ความถี่ไฟ

45-65 Hz, 50-60 Hz

(ปรับตัวอัตโนมัติ)

ชุดกรองสัญญาณกวน

MOV และ line filter สำหรับ Normal และ common mode noise

แรงดันไฟ AC ขาออก

±2%

รูปคลื่นไฟ AC ออก

Sine wave ความเพี้ยนต่ำกว่า 3% THD

(ที่ Full PFC)

ประสิทธิภาพของเครื่อง

89-92% ขึ้นอยู่กับ load

เสียงพัดลมรบกวน

ต่ำกว่า 20 dBA

ตัวเครื่อง

(กว้าง) 60 x (ยาว) 27 x (สูง) 60 ซม. หนัก27 กิโลกรัม

 

ผลการทดสอบ

            จากเต้าเสียบตัวเมีย Monitor Acoustic รุ่นท๊อปสีเทาที่กำแพง (ชุดนี้ 14,000 บาท แผงหน้ากับเต้า 2 ชุด) ออกสายไฟ AC McIntosh 2328 Power Cable, Made in USA) หัว SONARQUEST (ตามลูกศรของสาย) สายชุดนี้ประมาณ 2,000 บาท (ให้มากับตัวกรองไฟ PHD POWER STATION) และไปเข้า AVPS 1050 (ฟังทดสอบทิศทางเส้นฟิวส์ ติดๆ กับรูรับสายนี้ มีผลไม่เบา เดิมเสียบมาก็โอเค แต่พอสลับฟังใหม่ โฟกัสดีขึ้น ยังไงๆ ควรฟังทดสอบนะครับ) จากรูไฟออกของ AVPS 1050 เสียบด้วยสายไฟ FURUKAWA CB-10 สามเส้น ทิศทางถูกต้อง หัวตัวผู้/เมีย WATTGATE ห่อหลวมๆ โพรกๆ ด้วยผ้าคาร์บอนไฟเบอร์ แล้วไปเสียบเข้าตัวกรองไฟ PHD POWER STATION (28,000 บาท) (มีการทำระบบระบาย EDDY CURRENT ด้วยกระทะเหล็กหล่อ (จากฝรั่งเศส) ซ้อนกัน 3 ใบ)

            อินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม บาลานซ์แท้ เข้า-ออก) สายไฟ AC NORDOST รุ่นเล็กสุด (12,000 บาท) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ ซิงเกิ้ลไวร์ หัว WBT) เข้าลำโพง Golden Ear Tritan 5 (3 ทางวางพื้น) ยกสายลำโพงสูง หนีพื้นห้องด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีดสูง 1 คืบ และเอาทับบนสายอีก สูง 1 คืบกว่า

            จากเครื่องเล่นบลูเรย์ OPPO 105 (ปรับปรุงภาคจ่ายไฟโดย PERFECT POWER) ต่อออกสายเสียง MADRIGAL CZ-GEL 2 บาลานซ์เข้า No.383 (แยกสายซ้าย-ขวา ไม่ให้แตะต้องกัน) สายไฟยกจาก No.383 เข้า OPPO สายภาพ HDMI รุ่น HD 2000 (ย้อนทิศ) เข้า LCD TOSHIBA 24 นิ้ว FULL HD สายไฟ AC ใช้ CHORD สายไฟของ OPPO และ LCD ผ่านตัวกรองไฟ PHD เช่นกัน

            มีตัวกรองไฟ PHD 2 แบบหัวเสียบ (3,300 บาท) เสียบตามรูตัวเมียในห้องเสียบ 4 หัว แผงไฟนอกห้องเสียงอีก 3 หัว

            ใต้ OPPO มีแท่นกันสะเทือน TOMBO PSC-01 / ขา MAGIC SPIKE (2 อย่าง 12,000 บาท) ด้านบน OPPO มีผลึก, แร่ต่างๆ จูนเสียง, มิติเสียง

            ใกล้ๆ สายไฟ AC ของทุกเครื่อง (ขาเข้า) มีแท่งผลึกทัวมารีน ที่ขาออก, ขาเข้า กล่องกรองไฟ PHD POWER STATION ก็มี (เข้า 1, ออก 2) ที่เต้าเสียบตัวเมีย MONITOR ACOUSTIC อีก 1 ที่ปลายเท้าขวาผมอีก 1 ทุกก้อน ฟังทดสอบ (ตั้ง/คว่ำ, มุมวาง)

            มีกล่องตัวอย่างแร่/พร้อมหนังสือคู่มือ ของ JUDY HALLS 5 กล่องในห้อง (กลางห้อง 1, หลังที่นั่งฟัง 4) ลำโพงซ้าย, ขวา วางห่างกัน 2 เมตร ห้องฟัง 3.85 x 9 x 2.5 เมตร พื้นปูพรม กำแพงมีฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาว จากเยอรมัน) ปัดลมแอร์ (Low, 25 องศา C) ลงด้านหลังลำโพง

            เอียงลำโพง (Toe In) ปรับจนได้สุ้มเสียงครบ ทรวดทรงเสียงดีที่สุด นั่งฟังห่างจากลำโพง 3.6 เมตร ตัว AVPS 1050 วางอยู่บนเก้าอี้ไม้ (ห้ามใช้เหล็ก) สูง 1 เมตร หนีพื้นห้อง (ปูน/โครงเหล็ก)

            ภายในห้องไม่มีรีโมทใดๆ แม้แต่ของแอร์ (ตัวแสบเลย) นอกจากของ OPPO ไม่มีจอ LCD อื่นใด, โทรศัพท์มือถือ, โทรศัพท์บ้านไร้สาย, PC, โน๊ตบุ๊ค, VDO เกมส์, iPad, นาฬิกาไฟฟ้า, นาฬิกาข้อมือ บัตรแม่เหล็กในกระเป๋าเสื้อ, กล้องดิจิตอล, WiFi, LAN ไม่มีหมดนอกจากรั่วเข้ามา มีผลึกพุ่มอะมิทิสขนาด 6 กำมือ 1 พุ่มด้านขวา OPPO ห่าง 60 ซม. ที่พื้นข้างๆ ที่นั่งฟังห่าง 80 ซม. ขนาด 2 กำมือ

            AVPS 1050 เป็นเครื่องใหม่แกะกล่อง แต่ผมก็นำมาใช้เลย ซึ่งผลที่ได้ก็ผวาแล้ว!

          เริ่มด้วยการ ฟัง CD อัลบั้ม WOOD ของ Brian Broomberg ครั้งแรกฟังโดยผ่าน AVPS 1050 จากนั้นไม่ผ่าน

            ตอนผ่าน เสียงอิ่มแน่น กังวาน มีบรรยากาศดีมาก เวทีเสียงแผ่กว้าง หลุดลอยออกมา น้ำหนักเสียงล้นหลาม เหมือน Mark เพิ่มกำลังขับเป็น 300 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม

            พอไม่ผ่าน ช็อคครับ...ทุกอย่าง ป้อแป้ไปหมด เวทีเสียงถอยไปกองจมอยู่หน้าตู้ลำโพง เรียกว่า... อย่าฟังดีกว่า ความแตกต่างไม่ต่ำกว่า 100% (!!) แค่นี้จบแล้วครับ ไม่ต้องฟัง CD ต่ออีกแล้ว

ดูหนังดีกว่า

            ลืมบอกไปว่า แม้ตัวจอ LCD รุ่นนี้จะรับ FULL HD ได้จริงๆ (ปัจจุบัน TOSHIBA ไม่ทำแล้ว FULL HD เริ่มจาก 32 นิ้วขึ้นไป) แต่ผมปล่อยสัญญาณภาพจาก OPPO ด้วยความละเอียดต่ำสุด 560/380 k เพราะได้ภาพที่มีพลัง มีประกายกว่า มีทรวดทรงกว่าการปล่อยที่ 1920x1080 FULL HD แถมเสียงก็มีทรวดทรงดีกว่า ความคมชัดแค่นี้ก็เหลือกินแล้ว (จอเล็ก 24 นิ้วเอง)

            เรียนตรงๆ ว่า ภาพไม่ได้รู้สึกดีขึ้นจนสังเกตได้ (อาจดีขึ้นสัก 5% ด้านสีสันที่อิ่มขึ้น) (หลังจอผมมีแท่งควอตซ์ 1 คืบ 3 แท่ง) คือเราใส่ตัวช่วยไว้เพรียบอยู่แล้ว

            แต่ด้านเสียงนี่คนละเรื่องเลย ผมไล่ดูแผ่นต่อไปนี้

  1. สาธิต Dolby Atmos ปี 2016 (บลูเรย์ แผ่นก็อปปี้ หาแท้ไม่ได้)
  2. เรื่อง Tomorrow Land (บลูเรย์, พากษ์ไทย, แท้)
  3. เรื่อง Oblivion (DVD, พากษ์ไทย, แท้)
  4. ตำนานนาย 1900 (DVD, พากษ์ไทย, แท้)
  5. The Core (DVD, พากษ์ไทย, แท้)

ฯลฯ (ดูอีกร่วม 10 เรื่อง)

          ผมฟังจากลำโพง Golden Ear Triton 5 “คู่เดียว” เสียงออกจาก OPPO เลือก LT, RT จากแผ่น 1 ตอนสาธิตโฆษณาโลโก้ Dolby Atmos ไม่ว่า

  • AMAZE
  • AUDIO SPHERE
  • HORIZON
  • LEAF

ตอนผ่าน AVPS 1050 “ทุกอย่าง” กินขาด ไม่ว่า พลังความอิ่ม หนักแน่นของเสียง ความกระชับ ความสดกังวาน ความหวาน ความเป็นตัวตน (3D) เวทีเสียงดุจเซอราวด์ ความสูงขึ้นไปถึงเพดานห้อง (วิ่งวนอยู่ตรงนั้นได้... ไม่ต้องมี Dolby Atmos ใดๆ) ห่างกัน ใช้/ไม่ใช้ 100% ครับ (!!)

แผ่น 2 ตอนขึ้นต้นแผ่น ปราสาท Walt Disney เสียงยิงพลุลอยอยู่เลยเพดานห้องขึ้นไปอีก (!) เสียงบ้องไฟวิ่งวนรอบยอดปราสาท วิ่งตรงมาหาเราแล้วเบี่ยงไปขวาหลังเรา ชัดมากๆ พูดง่ายๆ AVPS 1050 ช่วยให้การเป็นระบบเซอราวด์ชัด จะแจ้งขึ้น ด้านหลังเราชัดขึ้น 50% ยิ่งดูหนัง ถ้าไม่ผ่าน AVPS 1050 หมดอารมณ์กันเลย จืดสนิท

สรุป นี่ขนาดชุดทดสอบผม ตัวช่วยเพรียบมูลค่าเป็นแสนบาท จูนกันระดับเทพ ซึ่งดูๆ แล้ว ถ้าตัวระบบไฟไม่ดีจริง ก็ไม่น่าจะปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้นได้อีกสักกี่มากน้อย (แรกเริ่มผมคาดหวังว่า สัก 15% ก็หรูเสียไม่มีแล้ว) แต่นี่ได้ระดับ 100% (ขึ้นไป) คิดเอาง่ายๆ Mark No.383 (100 W/CH) ราคา 300,000 บาท AVPS 1050 ทำให้เสมือนมันเขยิบเป็น 300 W/CH ถามว่า “ถ้า” Mark กำลังขับขนาดนั้น คุณต้องจ่ายเท่าไหร่ แน่นอน เฉียด 1 ล้านบาท แต่คุณจ่ายให้ AVPS 1050 แค่ 85,000 บาท (ถูกกว่า 10 เท่า) ยังไม่นับลำโพงคู่เดียวของคุณ แปลงร่างกลายเป็นลำโพง 5.1 (พร้อมซับ) ซึ่งคุณควรต้องจ่ายอีกกี่หมื่น แถมเกะกะเต็มห้องไปหมด รางไฟนอกระดับไฮเอนด์ดีๆ ทราบว่า ราคาแทบจะซื้อ AVPS 1050 ได้ทั้งตัว (แต่รางโดดๆ ที่ไหนจะให้กำลังเพิ่มเกิน 100% แบบนี้ได้ มันเป็นไปไม่ได้เลย)

ผู้จัดจำหน่าย

บริษัท วันพัฒน์ (59) จำกัด
729 / 3 ถนนพระยาสุเรนทร์ แขวงบางชัน เขตคลองสามวา  กทม. 10510
โทรศัพท์ : 02-175-2933-4  โทรสาร : 02-175-2935
e-mail :   wanpat_59@hotmail.com
www.wanpat59.com

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459