000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > เลือกเครื่องเสียงไม่ให้พลาด
วันที่ : 19/06/2016
14,270 views

เลือกเครื่องเสียงไม่ให้พลาด

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

เครื่องเสียงมีตั้งแต่ราคาไม่กี่ร้อยบาทหรือแค่หลักพันบาทเช่นพวก “เครื่องเสียงพกพา” ฟังด้วย “หูฟัง” จนถึงวิทยุกระเป๋าหิ้ว,มินิคอมโป,ชุดแยกชิ้นเล็ก,ชุดแยกชิ้นใหญ่ ด้วยสนนราคาหลักหมื่นถึงหลักล้านหรือหลายล้านบาทก็มี

ในแต่ละระดับราคาก็มีชุดให้เลือกมากมายเต็มตลาด การเลือกชุดที่ไม่ถูกใจเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เสียทั้งเงินแล้วยังต้องทนฟังอยู่ทุกวันๆ

แน่นอน การเลือกซื้อเครื่องเสียงซักชุดไม่ใช่ของง่าย หลายคนเลือกโดยเริ่มที่ผลิตภัณฑ์ พุ่งเข้าสู่ข้อมูลทางเทคนิคและการใช้สอยเป็นหลัก แต่จริงๆแล้วมีอะไรอีกมากมายที่เขาควรจะได้นำมาพิจารณาก่อนด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นด่านแรกก่อนผ่านไปสู่ตัวผลิตภัณฑ์เสียอีก ถ้าไม่นำมาพิจารณาก่อน การเลือกผลิตภัณฑ์นั้นๆอาจล้มเหลวใช้ไม่ได้ หรือใช้ไม่นานก็จะเบื่อและต้องเปลี่ยนใหม่

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บางครั้ง ในวงการเครื่องเสียงโดยเฉพาะเครื่องเสียงไฮเอนด์ที่การเลือกมักตั้งอยู่บน “ความหรูหรา” , “ราคาที่แพงลิบ” , “การปั่นยี่ห้ออย่างเป็นขบวนการ” , “การขายบุคลิก” , “การจูงจมูกให้ไปซ้ายที-ขวาทีของผู้ขายอย่างไม่รู้จบ” พูดง่ายๆว่า “ขายความโง่ (ของผู้ซื้อ)” ทำอย่างไรก็ได้ให้มัน “จบไม่ลง” กรณีนี้เป็นเรื่องนอกประเด็นแล้วแต่บุญกรรมของแต่ละคน

อะไรที่กล่าวถึงตอนต้น ที่ต้องพิจารณาก่อนแรกสุดได้แก่ การรู้จักตนเองนั่นเอง ได้แก่

  1. เราชอบฟังสไตล์ไหน เพลงประเภทไหน
    ถ้าคุณชอบฟังเพลงป๊อป,เพลงลูกทุ่ง,วัยรุ่น,สมัยนิยม ซึ่งพวกนี้จะมีการ “กดการสวิงเสียง (Compressed Dynamic) ไว้ค่อนข้างมาก รวมทั้งการฟังจาก iPad,MP3 ที่จำกัดการสวิงดัง-ค่อยไว้
    เครื่องเสียงไม่ว่า “ชิ้นใด” ที่คุณต้องการก็อาจมีสุ้มเสียงที่ฉูดฉาดเติมแต่งสีสัน (เกินจริงบ้าง มากน้อยแล้วแต่ชอบ) กำลังขับทั้งของภาคขยายและลำโพงก็คงไม่ต้องสูงนัก หาลำโพงที่มีความไวสูงสักนิดเช่น 89 dB SPL/W/M ขึ้นไป กับห้องขนาดสัก 4x6x2.5 เมตร กำลังขับสัก 60 W.RMS/ข้าง ที่ 8 โอห์ม ก็น่าจะพออัดกันได้สนั่นห้อง แต่ถ้าคุณเงินถึงจะหาภาคขยายที่กำลังสูงกว่านี้ก็ไม่ว่ากัน ควรหาเครื่องขยายที่ตกแต่งทุ้ม,แหลมได้ด้วย เพราะเพลงสไตล์นี้การบันทึกเสียงมักไม่อยู่กับร่องกับรอย มีขาดมีเกินเสมอ ถ้ามีตู้ซับแบบ Active (มีภาคขยายในตัว) กำลังขับหลักอาจลดลงได้ถึง 45 W.RMS/ข้าง ที่ 8 โอห์ม
    แต่ถ้าคุณชอบฟังเพลงคลาสสิค หรือ New Age (เพลงแบบในจินตนาการ) ซึ่ง New Age มักใช้เครื่องดนตรี สังเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ ทั้ง 2 ชนิดนี้จะสวิงเสียงกว้างมาก (High Dynamic Range) ช่วงค่อยจะค่อยมาก ช่วงดังจะดังสนั่น จึงต้องการภาคขยายที่กำลังขับสูงสักหน่อย อย่างน้อยๆก็น่าจะ 100W.RMS/ข้าง ที่ 8 โอห์ม (200W.RMS/ข้าง ที่ 4 โอห์ม) กับลำโพงความไวไม่ควรต่ำกว่า 90 dB SPL/W/M (8 โอห์ม) หรือ 87 dB SPL/W/M ( 4 โอห์ม) นอกจากคุณจะฟังในห้องเล็กหน่อยเช่น 3.8x4x2.2 เมตรหรือนั่งใกล้ลำโพงห่างไม่เกิน 2 เมตรและ สายสัญญาณ ,สายลำโพง ให้เสียงมีเนื้อหนัง (ฮาร์โมนิกส์) ถูกต้อง ไม่ใช่ให้เสียงผอมบาง มีแต่หัวโน้ตซึ่งจะฟัง แล้วเสียงขาดมวล ขาดน้ำหนัก เร่งกำลังขับไม่ขึ้น
    ในกรณีนี้ใช้ได้กับการฟังเสียงที่ Dynamic สูงๆอย่างจากแผ่น Blu-ray โดยเลือกไปที่ HD SOUND ทั้งหลายที่ให้ การสวิง (Dynamic) มากกว่า 100 dB ซึ่งจริงๆแล้วในสภาพการฟังปกติเราไม่ต้องการขนาดนั้นเพราะถ้าให้ ปลอด ความเพี้ยนเต็มที่เราจะต้องใช้ภาคขยายข้างหนึ่งหลายร้อยวัตต์ RMS กับลำโพงทั่วไป (ความไว 87 dB SPL-90 d B SPL) หรือต้องใช้ลำโพงที่ไวมากๆระดับความไว 105 dB SPL/W/M (ซึ่งหายากในปัจจุบันหรือหาไม่ได้แล้ว กับ Home Use)
    เสน่ห์ของ HD SOUND จริงๆคือการที่มันสวิงกว้าง ทำให้หน้าคลื่นของตัวโน้ต (หัวโน้ต) มีความตั้งชันมาก ทำให้ฟังแล้วสด,ฉับไว,รวดเร็ว,โปร่ง ฟังใหม่ๆจะน่าตื่นเต้น แต่การที่มันทำให้ภาคขยายเกิดการอิ่มตัว ยอดคลื่นหัวขาดหรือ Clip อาการนี้จะเกิดกับลำโพงด้วย ทำให้ปลายเสียงสาก,หยาบ,จัดจ้าน,แจ๋น ฟังนานๆเครียด ไม่สบายหู ไม่ผ่อนคลาย ล้าหู บางครั้งถ้าเป็นปลายแหลมจะทำให้ดอกลำโพงแหลมทำงานแบบกระโชกเกินการควบคุม เกิดการสั่นค้าง (Ringing) หลอกหูว่าแหลมไปไกล เข้มข้น ชัดยิ่ง หัวโน้ตคมกว่าความเป็นจริง หูจะเริ่มหรี่ปลายแหลมสุด (เพาะมากไป) ทำให้เหมือนมีช่องไฟ,ช่องว่าง,ความสงัดระหว่างตัวโน้ตดีขึ้นแต่หัวโน้ตมักวิ่งนำหน้า “ตัวโน้ต” นักร้องแต่ละคนเสียงคล้าย-เหมือนกันไปหมด เครื่องดนตรีชนิดเดียวกันแต่ราคาต่างกันเป็น 10 เท่ากลับฟังเสียงเหมือนๆกัน นักร้องจะเหมือนผอมลง,หนุ่มสาวขึ้น ความหวาน โรแมนติกหายหมด
    ทุกวันนี้แผ่น CD เพลงยังต้องมีการกดการสวิงเสียงช่วงดังสุดเอาไว้ ไม่มากก็น้อย แผ่น CD ให้ Dynamic ประมาณไม่เกิน 90 dB ยังปวดหัวขนาดนี้ แล้วจะนำเสนอแผ่น BD (Blu-ray) HD Sound ที่ Dynamic Range ทะลุไปถึง 160-120 dB เพื่ออะไร น่าขันที่วันนี้ ค่ายที่พยายามผลักดัน HD Sound (เพื่อ “ขาย” โลโก้ที่หน้าเครื่อง DVD ,AVR ฯลฯ) ได้ปลิ้นป้อนทำสิ่งตรงข้ามกับที่ตีฆ้องร้องเป่าให้พวกเราเฮตาม นั่นคือ เสนอวงจรลดหรือกด หรือควบคุมการสวิงเสียง (Dynamic Compressor) เพื่อลดการสวิงเสียง เหมือนหลอกให้วิ่งไปทางว้าย แล้วก็ชักชวนให้วิ่งกลับมาทางขวา อุบาทว์สิ้นดี (กำลังโฆษณาในนิตยสารต่างประเทศ) นี่ยังไม่พูดถึงว่ายิ่ง Dynamic Range กว้างยิ่งดังหนวกหูเพื่อนข้างห้อง,เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงหรือห้องอื่นๆในบ้านเดียวกัน
  2. ชอบฟังดังหรือค่อย กลางวันหรือกลางคืน
    เวลาที่เราไปพบใครสักคนหรือหลายคนชอบเปิดดังๆ บางครั้งดังจนแสบหูโดยไม่สนใจว่าชาวบ้านจะก่นด่าบรรพบุรุษขนาดไหน
    พวกเขาเป็นนักฟังที่น่าสงสารและหลงอวิชา เข้าใจผิดพลาด จริงๆแล้วสิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ต้องการเสียงที่กระแทกกระทั้น,มันส์ มีน้ำหนักพร้อมกับความคมชัดจนรู้สึกเข้าถึงได้ ไม่มีสิ่งใดขวางกั้นระหว่างดนตรีกับเขาต้องการ “เข้าถึง” นั่นเอง
    เสียงที่มีน้ำหนักกระแทกกระทั้น (Weight หรือ Punching) สามารถทำได้โดยใช้ภาคขยายที่อัดฉีด “กระแส” ได้เต็มที่ ฉับไว ไม่อั้น กำลังสำรองสูง รวมทั้งลำโพงที่ปลอดการรบกวนของอุปกรณ์ภายในเพื่อเสียงที่ไร้ม่านหมอก
    การบดบั้งอั้นเสียง ตัวตู้,ดอกลำโพงที่แน่นหนา มั่นคง ไม่สั่น แผงวงจรแบ่งเสียงที่นิ่งที่สุด สายลำโพงที่ถูกทิศ ขั้วต่อสาย (หางปลาตัวยู) ที่เสียบถูกทิศ (คว่ำหรือหงาย) การเดินสายบนแผงวงจรแบบขาอุปกรณ์ชนกันโดยตรง (Hard Wire) การยกสายลำโพงสูงหนีไม่แตะพื้นห้อง (ปูนที่มีโครงเหล็ก) การไม่ใช้สายลำโพงไบ-ไวร์สำเร็จรูป (ชุดแหลมกับทุ้มอยู่ในปลอกเดียวกัน แตะกัน) การเอียงลำโพง Toe In ให้ได้ตัวตนเสียงดีที่สุด การนั่งฟังไม่ห่าง จากลำโพงมากนัก ห้องฟังที่ไม่ก้องจนอื้ออึง ไม่นำตู้ลำโพงใส่เข้าไปในช่องของเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน (ที่ทำเป็น ช่องไว้) ซึ่งเสียงจะจมติดตู้ไม่ “กระเด็น” หลุดออกมา ระบบลำโพงที่ไม่ดีพอ (เสียงแบน,จม)  การเดินสายเสียง,สายลำโพงย้อนทิศ สายไฟ AC ที่เดินมาห้องฟังย้อนทิศ (เสียงจมแบนไม่กระเด็นลอยออกมาหาเรา) การสลับขั้ว ลำโพงซ้าย,ขวากลับเฟสกัน (Relative Phase) การที่ดอกลำโพงซ้าย,ขวาเฟสเหมือนกันแต่หายใจหุบเข้าตู้ (Absolute Phase ผิด สำหรับเพลงนั้น) อะไหล่อุปกรณ์บนแผงวงจรย้อนทิศ เส้นลวดวอยส์คอยล์เดินย้อนทิศ (Direction) เสียงจมแบน สายสัญญาณเสียง,สายลำโพงที่มีแต่หัวโน้ตไม่มีฮาร์โมนิกส์ (มวล,ความถี่คู่ควบ) การต่อระบบเฟสผิด ลำโพงกลาง-แหลม-ทุ้ม กลับเฟสกับตู้ซับ การนำเครื่องเสียงวางซ้อนทับกัน (เสียงหุบจมไม่พุ่งหลุดลอยออกมา เครื่องเสียงเอง (เครื่องเล่น CD ,แอมป์) ให้เสียงผอมบางเองหรืออั้นตื้อไม่หลุดลอยออกมา น้ำหนักเสียงไม่มีทำให้ต้องเร่งดังมาก สุดท้ายมีการกดใช้ฟังก์ชั่น Night Mood หรือ DRC (Dynamic Range Compress) ที่ AVR แอมป์ไว้ ซึ่งจะกดการสวิงเสียงไว้เสียงไม่พุ่งหลุดลอยออกมา
    เครื่องแอมป์ที่เสียงเฉื่อยไม่ฉับไว (Slew Rate ต่ำ) เช่นพวกเครื่องหลอดส่วนใหญ่ แอมป์ทรานซิสเตอร์ประเภทวงจรพิสดารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคขยายเช่น พวกแอมป์ Class H , Class T พวกนี้ถ้าดนตรีขึ้นชิ้นเดียวจะเหมือนกำลังเกินตัว แต่พอดนตรีขึ้นหลายชิ้นพร้อมๆกัน ทุกๆเสียงจะเริ่มตี,กอดกันเป็นกระจุก แบนแผ่ติดจอ Dynamic Contrast เสื่อมถอยลงพร้อมกับเสียงเริ่มถอยจม ฟังแล้วเหมือนไม่มีน้ำหนัก ดังอย่างเดียว ขาดพลัง
    การออกแบบระบบลำโพงที่ผิดพลาดอีกอย่างคือ วางดอกลำโพงแหลมห่างจากดอกกลางหรือกลางทุ้มมากไป ทำให้เสียงผอมบาง ขาดมวล ขาดเนื้อหนัง เหมือนไม่ดัง ต้องเร่งดังมากๆเพื่ออาศัยการก้องของห้อง,ของภายในตู้ลำโพงมาช่วยเพิ่มเนื้อเสียง
    จะเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดของนักเล่นโดยสับสนกับคำว่า ชัด,สด สมจริง ไปปะปนกับคำว่า ดัง Dynamic กับ Loudness มันต่างกัน
    สุดท้ายปัญหาด้านอคูสติก ณ ตำแหน่งที่นั่งฟัง “บังเอิญ” ที่เสียงจากซ้าย,ขวา สะท้อนไปมาในห้อง และมาพบกันที่ตำแหน่งนั่งฟังโดยคลื่นเสียงทั้งสองหรือส่วนใหญ่เกิดการขยับดันอากาศในทิศตรงข้ามกัน (Out Of Phase) เกิดการหักล้างกันเอง เสียงเฉพาะ ณ ตำแหน่งนั่งฟังนั้นจึงค่อยลง (Phase Cancelation) เร่งเท่าใดเหมือนไม่ดัง ขาดน้ำหนัก โหว่ง หลวม ขณะที่นั่งฟังตำแหน่งอื่นดังลั่นแล้ว
    การฟังกลางวันหรือกลางคืนก็มีผลเพราะต้องเกรงใจจะรบกวนเพื่อนห้อง,เพื่อนบ้าน เปิดดังได้จำกัดในระดับหนึ่งเท่านั้น (เป็นเรื่องตลกร้ายที่คอนโดบางโครงการแถมชุดโฮมเธียเตอร์ให้ด้วย เป็นการเพาะปัญหาการเปิดเสียงหนวกหูรบกวนกัน เสียงทุ้มลึกจากซับวูฟเฟอร์มันทะลุทะลวงกำแพง (ที่แสนบาง) ของคอนโดได้อร่อยนัก อยู่ไม่มีความสุขแน่คอนโดนั้น ไม่รู้คนคิดโปรโมทเอาสมองส่วนไหนคิด
  3. มีห้องฟังโดยเฉพาะหรือห้องโถงอเนกประสงค์
    การมีห้องฟังหรือทำห้องฟังโดยเฉพาะ มีข้อดี 3 ประการคือ

    1) ลดหรือตัดปัญหาการส่งเสียงรบกวนภายนอก ทำให้เราเปิดได้ดังเต็มที่ (ในระดับหนึ่ง) ไม่ต้องกังวลว่าช่วงสวิงแรงๆจะรบกวนใคร (การกังวลจะส่งผลให้หูของเรา “เครียด” นานๆหูจะตึงได้
    2) ลดปัยหาเสียงจากภายนอกเข้ามารบกวน เชื่อเถอะว่า การฟังเพลงในที่เงียบสงบ ช่วยเพิ่มสมาธิในการฟังได้มหาศาล เสียงจะไพเราะขึ้นเยอะ อีกทั้งไม่ต้องเร่งดังๆเพื่อเอาชนะเสียงรบกวนภายนอก ทำให้แอมป์,ลำโพงไม่ต้องทำงานหนัก ความเพี้ยนก็ลดลง การสวิงเสียงค่อยสุดไปดังสุดจะดีขึ้น (Linearity ดีขึ้น) เมื่อไม่ต้องเร่งดังๆ ก็ลดโอกาสเสียงก้องอู้ในห้องได้มาก (ถ้าห้องเงียบมากอย่าลืมใส่ใจกับเสียงกวนของแอร์ด้วย)
    3) การมีห้องฟังเป็นกิจจะลักษณะทำให้สามารถควบคุมอคูสติกหรือการก้องของห้องได้เต็มที่ ทำให้เก็บเกี่ยว เข้าถึงแก่นคุณภาพของเครื่องเสียงได้
  4. ฟังวันละกี่ชั่วโมง ฟังอย่างตั้งใจหรือฟังเบาๆทำงานไปด้วย
    ถ้าคุณมีเวลาฟังแค่ประเดี๋ยวประด๋าวเช่น ตอนเช้าขณะกำลังแต่งตัวหรือตอนเย็นก่อนไปอาบน้ำ แต่ละช่วงแค่ 10 – 15 นาที ควรใช้ชุดที่เสียงคมชัด ออกสด ตื่นตัว เน้นทุ้มกับแหลมสักนิดพองาม สวิงเสียงดัง-ค่อยได้กว้างหน่อย ไม่ถึงกับจัดจ้าน มิติเสียงต้องดี เพื่อเติมเต็มอิ่ม ดึงดูดสมาธิได้รวดเร็ว ใช้เวลาน้อยที่สุด นี่คือการฟังเพื่อลืมความง่วง ความเหนื่อยล้า ไม่ใช่ฟังเป็น Back Ground
    การฟังแบบทำงาน,อ่านหนังสือพิมพ์,กวาดบ้านถูบ้าน ทำครัวทำสวนไปด้วยหรือตามสถานบริการเช่นสปา กรณีนี้เป็นการฟังแก้เหงาหู ฟังเป็นเพื่อน ไม่เน้นเอานิยายอะไร เครื่องเสียงเป็นชุดเล็กๆได้ หามินิคอมโปสักชุดที่มีซับวูฟเฟอร์ด้วย (เพื่อให้เบสลึกช่วยเพิ่มการผ่อนคลาย แต่ทุ้มต้องไม่ตูมตามหรือแข็งกระด้างต้องนุ่มหวาน) ไม่จำเป็นต้องเล่น VCD หรือ DVD ได้ ชุดที่เล่น CD ได้อย่างเดียวเสียงมักดีกว่า ถ้ามีช่องเสียบ USB,SD ยิ่งดีหรือ จะเล่นเครื่องเล่น CD แบบ 5 แผ่นถาดกับชุดขยายเสียงที่ใช้กับ PC ประเภทชุด 2.1 ราคา 2 – 3 พันบาทก็ยิ่งดี ไม่แนะนำการลากสายเดินระบบเสียงไปทั่วบ้านแต่ละห้องเพราะเดี๋ยวนี้ชุดมินิคอมโปเล็กราคาถูกมาก แยกใช้ห้องละชุดไปเลยน่าจะสะดวกกว่าและไม่น่าจะแพงกว่าเท่าไร ที่สำคัญคือ อย่าคิดว่า แค่ใช้เป็นเสียงแก้เหงาเอาชุดถูกสุดเสียงเลวร้ายอย่างไรก็ได้ แผ่น CD MP3 ที่บันทึกเสียงแห้งแบนจากคอมพ์ก็ได้ จงจำไว้ว่าแม้เป็นเสียงแก้เหงา แต่ถ้าเสียงดีก็ยังฟังออกชัดว่าน่าฟังกว่า คนร้องเพลงเพราะ ร้องค่อยอย่างไรมันก็ฟังไพเราะ คนร้องเพลงไม่เอา ไหน ร้องค่อยก็ฟังออกว่าไม่น่าฟัง รกหู
    การฟังแบบเอาเรื่อง ฟังจับผิด ฟังกันให้ถึงแก่นของเพลง ของการบันทึกเล่น,ร้อง ฟังทีเป็นชั่วโมงๆ บางคนฟัง 3 – 4 ชั่วโมงทุกวันก่อนนอน แบบนี้ต้องหาชุดที่เสียงราบรื่นเป็นธรรมชาติที่สุด เน้นคุณภาพทุกรูปแบบเท่าที่งบประมาณจะเขยิบไหว เพราะนี่คือการพักผ่อนหลักของคุณ ช่วยให้คุณไม่ต้องออกไปเสียเงินนอกบ้าน ไปเสี่ยงอันตรายสารพัด ทุ่มเทกับชุดไปเถอะอย่าขี้เหนียว ชุดเสียงดีๆฟังได้อิ่มเอมทั้งครอบครัว ถ้ามีลูก 1 , เมีย 1 , คุณ 1 หาร 3 กับราคาชุด คนหนึ่งจ่ายไม่กี่พันหรือหมื่นบาท เพื่อความอบอุ่นในครอบครัว ลงทุนเถิดครับ
    ชอบร้องเพลง ถ้าชุดของคุณแพงลิบนับแสนๆล้านๆบาท (ตั้งแต่ห้าแสนบาทขึ้นไป) ขอแนะนำว่า ควรแยกชุดร้องเพลงต่างหากอีกชุด จะอยู่ในห้องเดียวกันหรือแยกห้องก็ได้ เพราะถ้าเผลอถือไมโครโฟนเข้าใกล้ลำโพงจะเกิดเสียงวี้ดหอนดังจนลำโพงเสียได้ (เสียทีก็ซื้อชุดร้องเพลงใหม่ได้ 1 ชุด) หรือเผลอ (เมา) ทำไมโครโฟนหล่น ลำโพงก็พังได้ง่ายๆ ยิ่งถ้าเป็นไมค์ลอยไร้สาย เกิดแถวบ้านมีคนเล่นวิทยุสมัครเล่น VR อาจแรงพอเป็นเสียงปิ๊ก ดังลั่นเข้าระบบเสียงคุณ ชุดไฮเอนด์ราคาเป็นล้านก็เรียบร้อย แต่จำไว้ว่า ไมค์สายจะให้เสียงดีกว่าในราคาเท่ากัน กับไมค์ลอย จงลงทุนกับไมค์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำใจได้ จริงแล้วร้องเพลง 2 คนกับแฟน อยู่ชิดติดกันก็ไม่จำเป็น ต้องใช้ไมค์ ใช้เอคโค่ก็ได้ (การร้องด้วยเอคโค่ ทำให้ร้องไม่เก่ง) การเลือกซื้อชุดร้องเพลง (คาราโอเกะ) อย่าคิดว่าคุณภาพเสียง มิติเสียง ไม่สำคัญ มันสำคัญไม่ต่างจากชุดฟังเพลงดีๆ ชุดคาราโอเกะดีๆ เสียงของเราไม่เพี้ยนทำให้กำหนดกิริยาการร้องของเราได้ชัด ฝึกร้องได้ง่าย ให้รายละเอียด การลากเสียง คลอเสียง หางเสียงได้ครบจนไม่จำเป็นต้องใช้เอคโค่ช่วย ชุดคาราโอเกะควรมีเสียงทุ้มที่ดี,ครบ,ชัดด้วย จะช่วยเพิ่มอารมณ์เพลงได้มหาศาล
  5. ความสะดวก ที่ทางในการจัดวาง ติดตั้ง
    ซึ่งสัมพันธ์กับขนาดของห้องด้วย บางท่านเข้าใจผิดคิดว่า ห้องฟังเล็กแค่ 3x5x2.5 เมตร ไม่ควรเล่นลำโพงวางพื้นหรือลำโพงใหญ่ จริงๆแล้วไม่เกี่ยวกัน การเล่นลำโพงวางพื้นหรือลำโพงใหญ่ จะช่วยให้ได้ทุ้มอิ่ม,ลึก ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเปิดดังๆจนบวมคับห้อง ลำโพงเล็กเสียอีก ทุ้มอ่อน ต้องเปิดดังๆจึงจะพอได้ทุ้ม เสียงยิ่งคับล้นห้องมากกว่า การใช้ภาคขยายกำลังขับสูงๆล้นกำลังรับของลำโพง อย่ากลัวว่า ลำโพงรับไม่ไหว จะพัง ในความเป็นจริงกับเสียงดนตรีแล้วลำโพงสามารถรับกำลังขับสวิงชั่วคราวได้สูงเป็น 10 เท่าของสเปครับกำลังขับต่อเนื่อง ปกติพอเราเร่งดัง ลำโพงจะพร่าเตือนนานก่อนจะพัง เราสามารถหรี่ถอยลงมาได้ทันเสมอ แต่จะพังตอนลืมตัวดึงสายสัญญาณเสียงออกขณะเร่งวอลลูม (และขั้วบวกจากที่หลังขั้วดินของหัวแจ๊ค) หรือใครทำหัวจานเสียงตกกระแทก,ไมค์ตกพื้น,เสียงวี้ดหอนของไมค์ การใช้ภาคขยายกำลังขับสูงๆ เสียงจะอิ่มแน่นหนัก เบสอิ่มหนักกระชับโดยไม่ต้องเร่งดังมากด้วย ลำโพงเล็กจะเสียงเหมือนลำโพงใหญ่ได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ลำโพงวางพื้นใหญ่ๆก็ได้โดยทุ่มงบกับแอมป์วัตต์สูงๆแทน สะดวกในการติดตั้งโดยเฉพาะระบบเซอร์ราวด์ที่ใช้ลำโพงหลายตัว
  6. อคูสติกของห้องฟัง
    ส่วนใหญ่ฟังกันในห้องรับแขก ห้องอเนกประสงค์ (Living Room) ห้องนอน มีไม่เกิน 30 % ที่ลงทุนทำห้องฟัง โดยเฉพาะ ถ้าห้องก้องมากก็พยายามหาของมาวางเยอะๆเช่น เฟอร์นิเจอร์หุ้มผ้าหรือหนัง ชั้นวางหนังสือ หมอนอิง ตุ๊กตาผ้า พรมผืน (หรือปูทั้งห้อง) ผ้าม่าน การนั่งใกล้ลำโพงจะทำให้เราไม่ต้องเร่งดังมาก จึงลดการกระตุ้นการก้องในห้อง มีข้อน่าคิดมากคือ การปรับจูนชุดมีผลต่อการลดอาการคล้ายเสียงก้อง เช่นการแยกสายต่างๆภายในเครื่องไม่ให้แตะต้องกัน สายสัญญาณภายนอกซ้าย,ขวาไม่แตะกัน (ไม่ควรใช้ที่ตีขนานชิดติดกันมาตลอดสาย) การฟังทดสอบทิศทางสายนี้กับสายลำโพงว่าต้องเสียบหัวไปทางไหน หางไปทางไหน การไม่ให้สายต่างๆแตะกัน การไม่วางเครื่องซ้อนทับกัน การไม่ต่อลำโพงซ้าย,ขวาต่างเฟส (ขั้วบวก,ลบกัน) การฟังทดสอบเฟสลำโพงแต่ละ CH ของระบบเซอร์ราวด์ (รวมทั้งตู้ซับ) ทั้งหมดจะช่วยลบอาการคล้ายก้องเสียงลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ จะทำให้ยังพอฟังได้ดีแม้ห้องจะยังก้องอยู่ มีนักเล่นจำนวนมากที่ไม่แก้ไขอาการคล้ายก้องนี้ก่อนและหลงไปแก้แต่ประเด็นด้านอคูสติกอยู่นั่นแหละ ซึ่งแก้ไม่ได้ มันคนละสาเหตุกันเลย สำหรับท่านที่กะทำห้องฟัง (ดูหนัง) โดยเฉพาะ ควรปรึกษาผู้รู้จริง หาโอกาสไปลองฟังตามห้องฟังของโชว์รูมเครื่องเสียงต่างๆ รวมทั้งของนักเล่น ที่สำคัญวัตถุ-วัสดุอะไรที่เขาเสนอขาย อ้างว่าเก็บเสียงได้ให้ลองเอาหูแนบใกล้ๆห่างสัก 1 คืบ ขณะเปิดเพลงอยู่ดูว่า พอเข้าใกล้วัตถุนั้นแล้วเสียงเพลงเงียบลงหรือไม่ ความถี่ช่วงไหนหดหายแหว่งไป (เมื่อฟังเทียบกับยืนฟังหน้าลำโพง) การกระแทกกระทั้นเสียงเพื่อความสมจริง (Impact) หายไปหรือไม่ ฟังนุ่ม อ่อนปวกเปียกขึ้นไหม จำไว้ ของแข็งไม่มีเหตุผลที่จะดูดซับเสียงได้ มีแต่ตีเสียงที่โด่งก้องก้อนใหญ่ ให้เป็นโด่งก้องก้อนเล็กๆหรือเป็น “ฝุ่น” เสียง ลดความเงียบสงัดลง ค่า S/N ของการฟังลดลง
    จำไว้ว่าห้องฟัง (ดูหนัง) ที่อคูสติกดีๆ ไม่จำเป็นต้องหรูหราระยับอย่างในหนังสือเมืองนอก เราสามารถค่อยๆเพิ่มการดูดซับเสียงในห้องไปทีละระดับตามงบที่มีอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องทุ่มลงไปทีเดียวเป็นเงินก้อนโต ห้องฟัง (ดู) ที่เข้าท่า จะช่วยให้การดูหนัง ฟังเพลงได้อรรถรสขึ้นอีกมหาศาล มีผลกว่าลงทุนซื้ออุปกรณ์เสริมเครื่องเสียงแพงๆเสียอีก เป็นสิ่งที่ต้องลงทุนอันดับแรกก่อนซื้ออุปกรณ์เสริมพวกนี้ จะมีประโยชน์อะไรที่จูนแต่งชุดด้วยอุปกรณ์เสริมสารพัด แต่ต้องฟังในห้องที่ก้องอยู่
  7. ที่อยู่อาศัย
    เป็นบ้านเดี่ยว,ทาวน์เฮาส์,อพาร์ทเม้นต์,ตึกแถวหรือคอนโด ถ้าเป็นบ้านเดี่ยวมีอาณาบริเวณห่างจากบ้านอื่นก็อาจเปิดดังได้บ้าง แต่จริงๆแล้วก็ควรทำห้องฟังอยู่ดี เพราะเดี๋ยวนี้บ้านเดี่ยวปลูกกันแออัด เบียดกัน แต่ละหลังแค่ 50 ตารางวา ต้องเรียกว่า “สลัม” บ้านเดี่ยวจะตรงประเด็นกว่า บ้านเดี่ยวดีหน่อยที่เสียงความถี่ต่ำ (เช่นจากการดูหนัง) จะไม่ค่อยไปถึงเพื่อนบ้าน จริงๆแล้วถ้าทำได้ทำห้องฟังใต้ดินได้ละก็ สวรรค์เลย ไม่ต้องกลัวหนวกหูใครเปิดได้ดังในระดับการแสดงสดเลย กรณีทาวน์เฮาส์,อพาร์ทเม้นต์,คอนโด,หอพัก,ห้องเช่า,ตึกแถว ซึ่งอาศัยกำแพงร่วมกัน เสียงจะทะลุไปรบกวนเพื่อนบ้านได้ เป็นไปไม่ได้ที่จะเปิดได้ดังจุใจ อย่างเก่งก็พอประมาณ ดีที่สุดคือทำกำแพง 2 ชั้นโดยไม่แตะต้องกัน อาจใช้ยิบซั่มหนา 1 – 2 ชั้น บนโครงอลูมิเนียมลอยตัวไม่ยึดกับกำแพงเดิม เว้นช่องว่างระหว่างกำแพงไว้สักครึ่งคืบและบุด้วยใยโปลีซับเสียงหลวมๆ ควรปะวัสดุซับเสียงที่ผิวกำแพงด้านในห้องด้วย ถ้าเป็นคอนโด,ห้องเช่า,หอพัก คงทำไม่ได้ไม่ใช่บ้านเรา ก็ต้องลดเสียงก้องในห้องให้มากที่สุดก่อนเหลือทะลุไปกวนข้างห้องทั้งทางกำแพงข้าง,พื้นและเพดาน ใช้การนั่งฟังใกล้ๆจะได้ไม่ต้องเร่งดัง
  8. การลงทุน
    การลงทุนซื้อชุดจะซื้อสะสมทีละชิ้นหรือยกทั้งชุดม้วนเดียวจบ ปกติแล้วถ้าจะไม่ให้พลาดได้เลย เมื่อไปฟังชุดไหนที่ร้าน บ้านเพื่อนแล้วถูกใจก็ควรเล่นยกชุดตามเขาไปเลย ตัดปัญหาจับแพะชนแกะ ลองผิดลองถูกว่าจะเข้ากันได้ไหม ซื้อ “ทุกอย่าง” ให้เหมือนเขาทั้งสายเสียง,สายไฟ,สายลำโพง,ขาตั้ง งบไม่ไหวก็อาจซื้อผ่อน อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่เคยฟังด้วยหูตนเองก็ควรซื้อแบบสะสมเช่นเริ่มด้วยเครื่องเล่น CD หรือ DVD ที่มั่นใจแล้วว่าคุณภาพ คับแก้ว ในราคาที่เรากัดฟันซื้อได้ ต้นน้ำสำคัญที่สุด คุณอาจลงทุนซื้อเครื่องเล่น CD ในราคา 96,000 บาท ขณะที่งบหมดและเล่นอินทริเกรทแอมป์ราคาแค่ 4,000 บาท! (อย่าตกใจหรือหัวเราะ) ซึ่งมันดีกว่าคุณเล่นเครื่อง CD  2 หมื่นบาทกับอินทริเกรทแอมป์ 80,000 บาท เมื่อไรมีงบก็ค่อยเขยิบอินทริเกรทแอมป์เป็น 3 หมื่นบาทขึ้นไป ในส่วยของลำโพงมีความสำคัญพอๆกับต้นน้ำ งบที่ควรลงทุนคือ 30,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะพอสมน้ำสมเนื้อกับต้นน้ำคือเครื่องเล่น CD (ไม่จำเป็นต้องงบสูงนำเท่ากับ CD เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากด้านวัสดุและ การออกแบบวิเคราะห์ ทำให้ลำโพงดีขึ้นแต่กลับถูกลง ลำโพงหลายคู่ปัจจุบันราคา 30,000 บาท เสียง,มิติกินขาดลำโพงเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่ราคานับแสนๆบาทได้ อย่าลดงบต้นน้ำ (เครื่องเล่น CD)ลงไปโปะให้กับงบลำโพงที่ใน อดีตมักจัดสรรงบให้เท่ากัน (ลำโพง = CD ) แต่ถ้างบลำโพงแทบไม่มี ให้ตัดใจเล่นลำโพงงบ 12,000 – 16,000 บาทและเมื่อจะปรับปรุงในอนาคตให้กระโดดงบลำโพงไประดับ 80,000 บาทขึ้นไปเลย เพื่อหนีให้ขาด สุดท้ายค่อยเขยิบอินทริเกรทแอมป์ด้วยงบ 30,000 บาทขึ้นไป ต่อไปถ้าจะหนีจาก 30,000 บาทต้องระดับ 100,000 บาทขึ้นไป นี่คือการเล่นแบบมีแผน เขยิบขึ้นไป อย่าเชื่อว่าชุดที่บริษัทจัดมาจะเป็นชุดที่ลงตัวดีที่สุด ความจริงก็คือว่ามักเป็นชุดที่จัดเพื่อระบายสินค้าค้างสต็อกมากกว่า
  9. จะเล่นของเก่าหรือของใหม่ดี
    เรียนตามตรงว่า การเล่นเครื่องเสียงเก่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากถ้าไม่รู้ประวัติของหรือคนขายเป็นใครก็ไม่รู้ ของขโมยหรือยกเค้ามาหรือเปล่า ของยักยอกจากบริษัทหรือไม่ ของจำนำหรือไม่ ของที่ยังผ่อนไม่หมดหรือไม่ ระวังจะหลงรับซื้อของโจร ของติดผ่อน ของที่ถูกถอดอะไหล่แท้ไปซ่อมให้เครื่อง (ลำโพง)อื่น แล้วใส่อะไหล่บ้านหม้อเกรดต่ำแทน ที่น่ากลัวคือ ของที่เคยเล่นหรือใช้งานแล้วหยุดเล่น ทิ้งไว้ไม่ใช้เป็นปีหรือหลายปี พวกนี้อุปกรณ์อะไหล่จะแห้ง.ฝ่อ เพี้ยนไปหมด เสียงจะแย่ลงมาก อายุจะไม่ทน ยิ่งประเภทของใช้แล้วจากต่างประเทศยิ่งน่ากลัว ไม่รู้เป็นมือที่เท่าไร ยำมาเละขนาดไหน ต้องดูว่าของเก่านั้นเป็นของห้างหรือของหิ้ว อย่าสนใจคำว่า “รับประกันข้ามประเทศ” (International Warranty) มันใช้ในบ้านเราไม่ได้ ของเก่านั้นปัจจุบันยังมีเอเย่นต์นำเข้าหรือไม่ เปลี่ยน เอเย่นต์แล้ว เขามีนโยบายการรับประกัน การรับซ่อมอย่างไร สืบดูให้ดีเสียก่อน ระวังการจัดฉากว่าเป็นเครื่องที่ผู้ขายใช้งานประจำอยู่ สรุป การจะเล่นของเก่าต้องซื้อจากผู้ที่เชื่อถือได้จริงๆเท่านั้น
  10. เล่นของห้างหรือของหิ้วหนีภาษีดี
    ปกติการซื้อของหนีภาษีหรือเลี่ยงภาษี จุดใหญ่ก็เพื่อจ่ายเงินน้อยลงกว่าของห้างตั้งแต่ 30 – 50 % ปัญหาก็คือมัน “ถูก”กว่าจริงหรือ โอเค คุณอาจจ่ายเงินซื้อต่ำกว่าในตอนแรกแต่ก็ต้องแลกมาด้วยการวัดดวง เสียขึ้นมาก็ตัวใครตัวมัน เรื่องการรับประกันข้ามชาติ (หรือ International Warranty) ไม่มีจริงหรอก (ในวงการเครื่องเสียง) คุณต้องแบกกลับไปโวยในประเทศที่คุณซื้อ จะมาโวยวายเอเย่นต์ที่เขานำเข้าถูกต้องในไทยไม่ได้ นี่คือข้อเสียแรก อย่าวางใจว่าพ่อค้าของหิ้วจะรับประกันให้ เทคนิคของเขาคือ การวนอะไหล่ เอาเครื่องนี้ไปซ่อมให้เครื่องนั้น เอาเครื่องเสียใหม่ไปซ่อมให้เครื่องที่รออะไหล่อยู่หรือไม่ก็เอาอะไหล่บ้านหม้อซ่อมให้ พวกหิ้วมักซื้อจากร้านขายปลีกที่เมืองนอก ย่อมไม่มีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตในเรื่องการบริการ
    ข้อเสียที่สอง ตอนขายออกตัว คุณก็ต้องขายในราคา “ของหิ้ว” ซึ่งได้ราคาต่ำกว่า “ของห้าง” ถ้าซื้อของห้าง 100,000 บาท ของหิ้ว 60,000 บาท เวลาขายออกตัว ของห้างขายได้ 70,000 บาท ของหิ้วจะถูกกดราคาเหลืออย่างเก่งก็ 35,000 บาท ของห้างขาดทุน 30,000 บาท ของหิ้วขาดทุน 25,000 บาท เท่ากับว่าของห้างแพงกว่าของหิ้วแค่ 5,000 บาท เกินคุ้มกับค่าการรับประกันจากห้าง 1 – 3 ปี (แล้วแต่ยี่ห้อ) ยิ่งถ้าเป็นเครื่องเสียงไฮเอนด์จะยิ่งคุ้มขึ้นไปอีกเพราะซ่อมแต่ละครั้งเป็นหมื่นๆบาท
    ข้อสาม ระวังของหิ้วย้อมแมว โดยเฉพาะพวกเครื่องหลอด เราไม่มีทางรู้ว่า คนหิ้วแอบถอดหลอดใหม่ออกแล้วใส่หลอดใช้แล้วมาหรือเปล่า ใช้ได้จริงแต่มันพ้นช่วงการทำงานที่ดีที่สุดไปแล้ว รวมทั้งพวกเครื่องฉายภาพที่ต้องใช้หลอดฉายเหมือนกัน แน่ใจได้อย่างไรว่า เขาไม่ใส่หลอดเก่าหรือหลอดซ่อม (RE-BUILT) มาให้
    ข้อสี่ ระวัง อ้างของหิ้วแต่จริงๆของที่พนักงานบริษัทขโมยมาจากโกดัง (เอาไปขายตามเว็บไซด์,ตามโรงรับจำนำ) สินค้าพวกนี้มักเป็นยี่ห้อดังที่ขายทั่วไป ไม่ใช่ไฮเอนด์ บางทีเป็นของจำนำที่ยังผ่อนอยู่ดังกล่าวแล้วในตอนต้น แล้วมาอ้างเป็นของหิ้ว
  11. จะปรึกษาผู้รู้ท่านใดดี
    นักวิจารณ์ทั้งไทยและเทศเชื่อได้แค่ไหน ผลิตภัณฑ์ประเภทได้รางวัลหรือบรรณาธิการเลือก ดีจริงๆหรือ ฯลฯ
    ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า สื่อ (ส่วนใหญ่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์) อยู่ได้ด้วยโฆษณา ไม่ว่าโฆษณาโดยตรงหรือทางอ้อมแบบแฝง ผู้วิจารณ์ย่อมต้องวิจารณ์ในแง่บวกและกลบเกลื่อนแง่ลบ การให้รางวัลก็มักตั้งธงเล็งกันไว้ก่อนแล้ว มันมีเทคนิคการจัดประกวดที่สามารถ ตบ จนพวกเดียวกันได้รางวัล เขาไม่ได้โกหก แต่ใช้การสร้างเงื่อนไขแบบเปิดทางให้พวกตัวเองได้รางวัล เรียนตรงๆว่ามีผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงเกือบ 10 ชิ้นในระดับไฮเอนด์ที่ไม่ควรได้รางวัลชนะเลิศหรือผลิตภัณฑ์แห่งปีแต่กลับได้ หลายชิ้นทำมาผิดๆด้วยซ้ำแต่กลับได้ขึ้นปกผลิตภัณฑ์แห่งยุคแห่งปี พวกแบรนด์เนมขายเยอะๆ (ระดับไฮไฟ) ก็เหมือนกัน วิจารณ์บรรยายเสียเลอเลิศ ซึ่งจริงๆคุณภาพแค่ครึ่งเดียวของที่วิจารณ์ เท่าๆกับบอกว่าคุณภาพของนักวิจารณ์เหล่านั้น “ประถม” มาก
    กรณีการปรึกษาเพื่อนหรือญาติหรือนักเล่นด้วยกัน จงระวังระบบจ่ายค่าหัวคิวมีการ “จัดฉาก” ที่บ้านนักเล่นเพื่อรอรับ “เหยื่อ” อีกทั้งบุคคลเหล่านี้ฟังหรือเล่นเป็น (เก่ง) จริงหรือ เรียนตามตรงว่ากว่าครึ่งยังฟังกันอย่างหลงประเด็น เข้าใจอะไรผิดๆ มองปัญหาแค่มุมเดียว ยังลงไม่ลึกจริง ราคาคุยกันทั้งนั้น
  12. ไม่จำเป็นต้องซื้อยกชุดยี่ห้อเดียวกันไปหมด
    จริงๆแล้วแทบไม่มีผู้ผลิตเครื่องเสียงระดับไฮ-ไฟถึงระดับไฮเอนด์รายใดเลยที่จะเก่งทุกเรื่อง ทั้งเครื่องเล่น,เครื่องขยาย,ลำโพง,สาย,ตัวกรองไฟคุมไฟ ส่วนใหญ่ถ้ามีสินค้าครบ มักสั่งผลิตจากภายนอกแล้วนำมาใส่ตัวถัง ผนึกยี่ห้อ ปะยี่ห้อตัวเอง โดยเฉพาะสินค้าจากจีนออกมาฟอร์มนี้ทั้งนั้น เครื่องเสียงไฮเอนด์หรือซุปเปอร์ไฮเอนด์มักเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างจริงๆ เก่งเครื่องก็ไม่เก่งลำโพง เก่งลำโพงก็ไม่เอาดีทางเครื่อง ยิ่งสายต่างๆทั้งหมดสั่งทำมาปะยี่ห้อทั้งนั้น
  13. ความอดทน บริการหลังการขาย
    บริการหลังการขายก็สำคัญมาก เจ้าของหรือพนักงานอัธยาศัยรับหน้ารับแขกหรือไม่ จริงใจแค่ไหน บริษัทมีนโยบาย “ขายความเสีย” หรือไม่กล่าวคือ ลูกค้าเอาของมาซ่อมเสียนิดหนึ่งแต่ตอนจ่ายบอกเสียโน่นเสียนี่ไปหมด มีการถอดอะไหล่ดีออกใส่อะไหล่โทรมแทน นี่เรื่องจริง โดนกันมาแล้ว พระสงฆ์องค์เจ้าก็ไม่เว้นโดนกันหมด บางบริษัทอ้างลูกเดียวว่าต้องมีใบเสร็จการซื้อพร้อมใบรับประกัน ไม่อย่างนั้นไม่ซ่อมให้ ถามว่า ก็ในเมื่อบริษัทสามารถตรวจสอบหมายเลขเครื่อง (S/N) ได้ว่าเป็นของบริษัทจริง มีเหตุผลอะไรที่จะไม่บริการหรืออ้างโน่นนี่ เพื่อปัดสวะ
    เรื่องราคาขายต่อ ตรงนี้ไม่อยากให้คิดมาก ถ้าคิดว่าซื้อเครื่องเสียงมา “เพื่อขายต่อ” ก็อย่าซื้ออย่าเล่นดีกว่า อย่าลืมว่าถ้าคุณซื้อโดยพิจารณาจากทั้ง 12 ข้อที่กล่าวแล้ว โอกาสที่คุณจะพลาดแทบไม่มีเลย ซื้อทีก็ใช้กันลืมเลย ประเด็นการขายต่อจึงไม่ใช่สาระสำคัญ อีกอย่างคือถ้าพบว่าเป็นเครื่องเสียงไทยทำหรือจากจีนที่สอบผ่านทั้ง 12 ข้อ แล้วมีคนขู่ว่า ขายต่อจะไม่ได้ราคา ก็อย่าเอาเป็นนิยาย อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้ราคาก็โคตรคุ้มอยู่แล้ว บางชิ้นถูกกว่าของแบรนด์เนมหรือไฮเอนด์ 7 เท่า สมมุติของไทยทำ 25,000 บาท คุณภาพสูสีนอก 170,000 บาท ต่อให้เล่นไป 5 – 10 ปีขายได้ 15,000 บาท ก็ยังคุ้มกว่าจ่ายของนอก 170,000 บาท
  14. ควรเล่นแบบเซียน
    คือซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีแววดี ขุนขึ้น แล้วจ้างนักดัดแปลงที่ “ฟังเป็น (ขอย้ำ ต้องฟังเป็นจริงๆ)” และ “ปรับปรุงเป็น” จัดการดัดแปลง (Modified) โดยมีตั้งแต่เสียเงินดัดแปลง 20 – 30 % ของค่าตัวผลิต

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459