000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > การฟังอย่างหลงผิด
วันที่ : 19/06/2016
9,180 views

การฟังอย่างหลงผิด

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ในการฟังเพลง (จริงๆควรนับการดูหนังด้วย) จากเครื่องเสียง มีโอกาสอย่างมากที่ผู้ฟังจะหลงเข้าใจผิดในบุคลิกบางอย่างของเสียงและคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น คิดว่ามันถูกต้อง ทั้งๆที่เป็นความพิกลพิการของเสียง สิ่งเหล่านี้ทำให้ฟังอย่างหลงทาง ใหม่ๆ อาจฟังเผินๆเหมือนจะดี แต่ฟังไปนานๆจะจับออกว่า มันไม่ใช่ มันเป็นบุคลิกที่ซ้ำซากจำเจ ไม่อยู่ในร่องในรอยก็มี ฟังไปสักพักจะเบื่อ ความหลงผิดเหล่านี้ อย่าว่าแต่มือใหม่หัดฟังเลยแม้แต่นักวิจารณ์,เกจิอาจารย์ก็อาจหลงทางได้เช่นกัน

ในบทความนี้จะไม่บอกวิธีการแก้ไข แต่จะบอกอาการ,สาเหตุและผลเสียที่ได้ นับว่ามีประโยชน์ต่อนักฟัง,นักวิจารณ์,นักทดสอบ,นักออกแบบจะได้ไม่ถูกหลอกหรือหลอกตัวเอง ต่อไปนี้คืออาการต่างๆที่พบเสมอ

  1. เสียงอิ่มดี มีเนื้อหนังดี
    จริงๆ คือ เกิดจากการจัดสมดุลของระดับสัญญาณขาออกและความต้านทานของขาออก ของวงจรปล่อย (Source) ไปยังวงจรถัดไป ไม่สอดรับกันได้ลงตัว (Matched) กับความไวต่อระดับสัญญาณขาเข้าและความต้านทานขาเข้าของวงจรรับ (Load) เรียกว่าเกิดปัญหา Level/Impedance Matching)
    อีกกรณีเกิดจากอัตราการขยายของภาคขยายที่ไม่เป็นเชิงเส้นหรือไม่ Linear คือสัญญาณขาออกต่อสัญญาณขาเข้า ไม่สัมพันธ์กันอย่างคงที่ตลอด ช่วงเสียงค่อยก็สัมพันธ์กันดีเช่น ถ้าอัตราขยายเสียงเป็น 2 ขาเข้า 1 โวลต์/ขาออกก็ 2 โวลต์ ขาเข้า 2 โวลต์/ขาออกก็ 4 โวลต์ ขาเข้า 4 โวลต์/ขาออกก็ 8 โวลต์ นี่เป็นการขยายเชิงเส้น แต่ถ้าพอขาเข้าเป็น 4 โวลต์/ขาออกกลับเป็น 6 โวลต์ แบบนี้มีการกดการสวิงเสียงไว้ อัตราขยายไม่เป็น 2 เท่าอีกแล้วที่ขาเข้า 4 โวลต์ มีการกดการสวิงเอาไว้
  2. เสียงหวาน ผ่อนคลาย อ้างว่าสไตล์หลอด
    จริงๆ คือ มีการกดการสวิงอ่อนๆแบบเลือกช่วงความถี่ ถ้าเป็นเสียงแหลมจะขยายแบบ Linear ดังกล่าวแล้ว แต่ความถี่ช่วงอื่นจะกดการสวิงไว้ให้เสียงอิ่ม เฉื่อย ช้า ทำให้บางคนเข้าใจผิดว่ามันคือเสียงหวาน ผ่อนคลาย จริงๆไม่ใช่ เพราะฟังนานๆจะอึดอัด เลี่ยน มีบุคลิกเดียวจำเจตลอด
    อีกสาเหตุคือ กรณีเครื่องหลอดที่ออกแบบมาอย่างหลงประเด็นในคำจำกัดความของคำว่า “หวาน,ผ่อนคลาย” ออกแบบมาไม่พิถีพิถัน ก็จะมีบุคลิกแบบเครื่องหลอดราคาถูกคือ กลางอิ่มแต่ไม่โปร่งทะลุ ซึ่งเกิดจากฝุ่นอิเล็กตรอนที่กระจายออกมาจากแผ่น Plate (บวก) เมื่อถูกกระทบด้วยกระแสอิเล็กตรอนจาก Cathode (ลบ) ภายในตัวหลอดเรียก Secondary Emission ฝุ่นอิเล็กตรอนเหล่านี้จะถูก Plate ดูดกลับคืนไป ทำให้ไปเพิ่มจำนวนอิเล็กตรอนให้กับกระแสสัญญาณทำให้เสียงอวบอิ่ม (Harmonics ที่2,4 ฯลฯ)
    สาเหตุต่อไปคือ ภาคขยายที่มีการตอบสนองไม่ฉับไว (ค่า Slew Rate ต่ำ) หรือมีการลดทอนช่วงความถี่ปลายสูง ก็จะหลอกหูว่าเสียงอบอุ่น ผ่อนคลาย
    สาเหตุสุดท้าย (เท่าที่พบ) คือ มีคลื่นความถี่วิทยุ (RF) เข้ามากวนทำให้เสียง,มิติ,คลุมเครือ,ไม่คมชัด หรือโฟกัส ออกถอยจมติดจอ ฟังเผินๆก็นึกว่าหวาน ผ่อนคลาย จริงๆน่าเบื่อเหมือนเข้าไม่ถึง มีม่านกั้น ฟังนานๆง่วงไม่ตื่นตัว
    จริงๆ แล้วเสียงหวานต้องเกิดจากเสียงที่อวบอิ่ม มีฮาร์โมนิกส์ถูกต้องตามจริง ไม่มากไป ไม่น้อยไป (ผอม,แบน) อีกทั้งให้ความกังวานที่ครบ หล่อเลี้ยงแต่ละตัวโน้ตและรวมเป็นทั้งวง ก่อให้เกิดบรรยากาศเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ ทุ้มต้องลงได้ลึกแต่กระชับไม่คราง เสียงก็จะหวานโรแมนติกอย่างเป็นธรรมชาติ
    ผลของการบิดเบี้ยวตามข้อ 1 , 2 คือมิติ,ทรวดทรงจะผิดรูปผิดร่าง ไม่โฟกัส ไม่หลุดลอยออกมาเป็นตัวๆ ไม่จัดวางชิ้นดนตรีไล่จากหน้าไปหลัง (Perspective) อาจไปกองเป็นกระจุกหรือแถวกระดานเรียงหนึ่งที่หลังเวที เสียงทั้งหมดอั้นๆสวิงไม่ออกและมั่วสับสนกันหมดไม่ได้ศัพท์โดยเฉพาะช่วงดนตรีขึ้นพร้อมๆกันหลายชิ้น รายละเอียดหยุมหยิมค่อยๆจะถูกกลบหมด ช่องไฟระหว่างตัวโน้ตไม่สะอาดหมดจด ทำให้กลบรายละเอียดของหัวโน้ตตัวต่อไป ช่องว่าง (Space) ระหว่างชิ้นดนตรีในวงจะเหมือนมีม่านหมอก ไม่โปร่งสะอาด ความสงัดของเสียงลดลง ฟังนานๆเจี๊ยวจ๊าวน่าเบื่อ
  3. เหมือนว่ารายละเอียดดี (Detail) หยุมหยิมดี คมชัดดี
    จริงๆคือ ปลายแหลมสะบัด (Ringing) หรือมีการทำไบ-แคปเพื่อเร่งความเร็วให้หน้าคลื่นชัน อีกกรณีคือ เสียงขาดฮาร์โมนิกหัวโน้ตจึงเด่นหลอกหูว่ารายละเอียดดี อีกกรณีคือ ทำการ Up Sample สัญญาณดิจิตอลจนฮาร์โมนิก (มวลเสียง) หายหมด
    ผลคือ
    - ฟังนานๆเจ็บหู ล้าหู เครียด หรือเหมือนมีเสี้ยนสาก
    - เสียงเครื่องดนตรีชนิดเดียวกัน ต่างยี่ห้อ ต่างราคา แต่เสียงเหมือนกันหมด
    - เสียงขาดพลัง น้ำหนัก เร่งวอลลูมไม่ขึ้น
    - เสียงเป็นอิเล็กโทรนิกส์ ไร้การสอดใส่อารมณ์ เหมือนรีบๆร้องให้จบๆ
    - ช่วงดนตรีขึ้นหลายๆชิ้น เสียงกลืนกันไปหมด เจี๊ยวจ๊าว ไม่เป็นชิ้นเป็นอันที่ถูกต้องแล้วรายละเอียดต้องใช้คำว่า Texture ผิวเสียง
  4. ทุ้มลึกดี เหมือนเสียงทุ้มลงได้ลึกดี
    จริงๆ คือ ทุ้มครางไม่หยุด ขาดความกระชับ
    ผลคือ
    - เสียงครางที่ตามมาจะไปกลบรายละเอียดอื่นๆที่ค่อยๆไม่ว่าความถี่ไหน
    - เสียงบวม คลุมเครือ
    - ไม่สงัด ในวงเหมือนมีม่านหมอก ไม่มีช่องไฟระหว่างตัวโน้ต
    - เสียงทั้งหมดไม่โปร่งทะลุสะอาดหมดจด (ไม่ Transparent)
    - เสียงตรงมั่วกับเสียงกังวาน
    - บรรยากาศเสีย มิติเสีย
  5. ตรงกลางโฟกัสดี
    จริงๆ คือ มีซ้าย มีตรงกลาง มีขวา เป็นแบบนี้ตลอดเวลา เป็น 3 จุด (3Points) ไม่ใช่เวทีเสียง (Stage) คือไม่มีระหว่างซ้ายกับกลาง,ขวากับกลาง ไม่มี Space หรือ Holographic
    สาเหตุ เกิดจากการรบกวนกันเองของจากดอกแหลมกับดอกกลางทุ้มเพราะสายลำโพงภายในแตะกันอยู่ โดยมีการกวนนั้นทั้งในลำโพงซีกซ้ายและลำโพงซีกขวา เมื่อมีการกวนเกิดขึ้นทั้งตู้ซ้ายกับตู้ขวาพร้อมกันเสียงจึงเหมือนอยู่ตรงกลางได้
    อีกกรณีคือ ตู้ซ้ายกับขวา ขันดอกลำโพงกลางทุ้มไม่แน่นเกิดการสั่นเครือค้างทั้งซ้ายกับขวา เกิดเป็นการขุ่นมัวปรากฏตรงกลางวง
    มีการใช้แผ่นไม้เซาะร่อง,กล่องไม้,อุปกรณ์ทางอคูสติกอื่นใดมาวางตรงกลาง ที่ก่อให้เกิดการสั่นก้องเสียงที่ช่วงกลางสูงขึ้นไป เกิดเป็นจุดกำเนิดเสียงใหม่เสริม หลอกหูว่ามีเสียงมาจากตรงกลาง เหมือนตรงกลางโฟกัสดี
    สังเกตว่าพวกนี้จะได้แค่ 3 Point Source มิติตรงกลางจะเหมือนชัดเฉพาะหัวโน้ต (ไม่กินไปถึงตัวโน้ต) และชัดแบบเลือกเฉพาะช่วงเสียงกลางสูงถึงสูง (ในช่วงการสั่นก้องหรือ Resonance ของอุปกรณ์ที่มาวางตรงกลางนั้น) และความโฟกัสดังกล่าวจะมากน้อยตามระดับความดัง มิติตรงกลางจะไม่มีทรวดทรงที่ดี (ไม่ 3D) เสียงโดยรวมทั้งวงแต่ละชิ้นดนตรีจะสวิงดัง-ค่อย ไม่สอดรับกัน
  6. เวทีเสียงกว้างดี มีบรรยากาศหรือ Ambiance
    จริงๆ คือ
    - เสียงทั้งหมดฟุ้งกระจาย ไม่โฟกัสและเปรอะไปทั้งวง จับต้นชนปลายไม่ถูก
    - เสียงแบนจม ไม่มีทรวดทรงเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีลำดับตื้น-ลึกของแถวนักดนตรี,นักร้อง (Perspective ไม่มี หรือไม่มี Layer)
    - ความกังวานแผ่ติดกับตัวชิ้นดนตรี,นักร้อง ไม่มีกลุ่มก้อน ไม่วิ่งกระจายลึกไปหลังเวที
    - เสียงไม่สงัด ไม่มีช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีหรือตัวโน้ต คำร้อง
    - เวทีเสียงมีม่านหมอก ไม่โปร่งทะลุ

    สาเหตุ
    - ระบบลำโพงมีปัญหา คลื่นต่างความถี่มาไม่พร้อมกัน ทุกอย่างเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ เมื่อเกิดขึ้นทั้งจากตู้ลำโพงซ้ายกับตู้ลำโพงขวา จะหลอกหูเหมือนเวทีเสียงกว้าง ความกังวานถูกเน้น (แต่เพี้ยนหมดดังกล่าวแล้ว)
    - ตั้งลำโพงหน้าตรงตั้งฉาก ไม่มีการจูนเอียง (Toe In) เสียงอาจดูฟุ้งกระจายดี (น่าขำที่นักวิจารณ์บางคนแนะให้ทำเช่นนี้ โดยอ้างว่า เพื่อนั่งฟังตรงไหนก็ได้ ไม่ต้องเครียดนั่งฟังจุดเดียวตรงกลาง) จริงๆ ความกว้างที่ได้เกิดจากเสียงวิ่งตรงไปสะท้อนฝาห้องซ้ายสุดและฝาตรงข้ามลำโพง (อยู่ด้านหลังจุดนั่งฟัง) การ Toe IN ช่วยลดการสะท้อนแบบเริ่มต้น (Early Relection ของฝาห้องที่ติดกับลำโพงได้ดีกว่า)
    - มีการทำระบบลำโพง ยิงเสียงสะท้อนกับกำแพง อาจช่วยหลอกหูว่าเสียงกว้างแต่เป็นความก้อง สะท้อนมั่วไปหมด มิติไม่โฟกัส
  7. การ Toe In ทำให้จุดนั่งฟังจำกัดแคบๆ (Sweet Spot)
    นี่เป็นความเชื่อของคนส่วนใหญ่ ไม่ว่านักเล่น,นักวิจารณ์,ทั้งไทย/เทศ
    จริงๆคือ ถ้าระบบเสียง,ระบบลำโพง,ระบบสาย ทุกอย่างถูกจูนปรับแก้ไขจน (แทบ) ไม่มีอะไรผิดเพี้ยน (ทิศทาง,อุปกรณ์,ทิศทางสาย,ฟิวส์,การตัดแบ่งความถี่ของระบบลำโพง,ทิศทางขาเสียบปลั๊กไฟ AC ,การไม่ทับซ้อนเครื่อง ,ยกหนีพื้น,แยกสายในตู้ลำโพง,ในเครื่อง, ฯลฯ) และจูนเอียงตู้ลำโพงให้ได้มิติเสียงมีทรวดทรง,โฟกัสดีที่สุด เราจะพบว่า ตำแหน่งแต่ละชิ้นดนตรีในวง ตำแหน่งนักร้อง เหมือนกับว่า “นิ่ง” อยู่ในวงอย่างที่ควรจะเป็น ไม่วูบเอียงไปมาตามตำแหน่งที่เรานั่งฟัง ยืนฟัง ไม่ว่าตรงไหนในห้อง (ที่ไม่ก้องจนน่าเกลียด) พูดง่ายๆว่านั่งฟังตรงไหนก็ได้ วงก็อยู่ในที่ ในตำแหน่งที่มันควรจะเป็น ไม่มีคำว่าจุดจำกัด (Sweet Spot)
  8. ความดังกับน้ำหนักเสียง
    บ่อยๆที่ใครจะชอบเปิดดังๆเพื่อเอามันส์ เอาสมจริง แบบการแสดงสด จริงๆแล้วความมันส์ สมจริง (Life Like หรือ Live) เกิดจากเสียงที่โฟกัส เป็นกลุ่มก้อน มีน้ำหนัก มีความสงัด หลุดลอยออกมา ให้ฮาร์โมนิกครบ จีบปากจีบคอ ตอบสนองได้ช้า-เร็วตามที่เป็นจริง กระชับ ไม่ยานคราง สวิงเสียงดัง-ค่อยได้กว้างราบรื่น ไม่ตื้อ มีราย ละเอียดดี ความถี่ครบไม่ใช่แค่ความดังอย่างเดียว
    ถ้าทำได้ตามนี้ เสียงจะมีน้ำหนัก สมจริง โดยอาจไม่ต้องเร่งดังมากๆจนรบกวนชาวบ้านหรือหนวกหู
    การเร่งดังมากไปจะเพิ่มความเพี้ยนทั้งระบบทุกๆช่วงจนถึงแอมป์,ลำโพง บางคนหันไปใช้แอมป์กำลังขับสูงๆหลายๆตัว ลำโพงเยอะ หรือลำโพงฮอร์น การกดสวิงเสียงเอาไว้จะเหมือนดังดีแต่อั้น,อื้ออึง เสียงหนาเฟอะฟะ มิติเละ เวทีเละ
  9. ความกังวานกับความเลอะเทอะ
    ดังที่กล่าวในข้อ 6 ว่า ความกังวานที่แท้จริงเป็นอย่างไร ความกังวานที่ดี,ถูกต้อง แม้กระทั่งความกังวานเองก็ต้องมีตัวตน มีรายละเอียด โฟกัส ไดนามิค มิติด้วย ความกังวานอย่างลวงๆเป็นสิ่งที่พบเสมอ บ่อยๆ
    สาเหตุ
    - เกิดจากฝุ่นอิเล็กตรอนของตัวรับกระแสอิเล็กตรอน (Secondary Emission) เมื่อลำอิเล็กตรอนจากขั้วลบ (Cathode) วิ่งไปชนแผ่นบวก (Anode) ภายในหลอด ก็จะเกิดฝุ่นอิเล็กตรอนดังกล่าว ซึ่งจะถูกแผ่นบวกดูดกลับคืนเข้าไปใหม่ ไปช่วยเสริมกระแสอิเล็กตรอนจริง ทำให้ได้เสียงมีมวล (ฮาร์โมนิกส์ Harmonics) มากกว่าความจริง และเสียงลากยาวขึ้น จึงเหมือนความกังวานดีขึ้น เสียงกลมกล่อมมีเนือหนังขึ้น
    - การขยายที่ไม่เป็นเชิงเส้น (Linear) เกิดการอั้น,ตื้อ ที่ระดับสัญญาณสวิงแรงๆ เรียกว่าเกิดการ Compress หรือช่วงค่อยเสียงควรค่อยจางลงแต่วงจรยังดึงค้ำระดับเสียงไว้ไม่จางลงตามจริง ทั้ง 2 กรณีทำให้เสียงกังวานเหมือนมีมากกว่าปกติหรือลากยาวขึ้น (คงความก้องในห้องให้นานขึ้น)
    - ความสามารถของภาคขยายหนึ่งที่ส่งสัญญาณไปให้ภาคขยายต่อไป ภาคขยายแรกไม่สามารถหยุดการตีสัญญาณไป-กลับค้างกว่าจะจาง ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างส่งทอดสัญญาณของ 2 ภาค (เรียกค่า DF หรือ Damping Factor ต่ำไป) ซึ่งปัญหานี้จะรุนแรงมากขึ้นถ้าการเชื่อมต่อสัญญาณ 2 ภาคมีปัญหา Matching (เข้ากันได้) ทั้งในรูประดับสัญญาณ (Level Matching) และความต้านทาน (Impedance Matching) สัญญาณที่ตีไปตีกลับวนนี้ อาจหลอกหูว่าความกังวานดี (แต่จะเป็นความกังวานแบบขุ่นไม่โปร่งพริ้ว)
  10. ความถี่เสียงดังพอๆกันทุกความถี่
    ทำให้เข้าใจผิดว่า เสียงราบรื่นดี ไม่มีเสียงไหนล้ำหน้า
    จริงๆคือ
    - กดการสวิงของเสียงไว้ อาจเกิดจาก Level Matching ดังที่กล่าวในข้อ 9 ที่แล้ว ปัญหานี้พวกเครื่องเสียง ไฮเอนด์มักหลงประเด็นนี้ มันมักหลอกหูว่าเสียงโดยรวมดังดี เครื่องมีพลังดี
    - ภาคจ่ายไฟไม่ยืดหยุ่นหรือเข้มแข็งพอ ช่วงโหมดนตรีหลายชิ้นขึ้นพร้อมๆกัน ภาคจ่ายไฟสวิงไม่ออก เกิดอาการตื้อ ทำให้ทุกความถี่เสียงดังเสมอกัน
  11. Dynamic หลอกๆจากฮอร์น
    บางคนฟังลำโพงแบบปากแตรหรือฮอร์นแล้วชอบโดยอ้างว่า ให้เสียงสมจริง
    จริงๆคือ ลำโพงแบบปากแตรจะมีกำลังขยายคลื่นเสียงแบบเลือกเฉพาะช่วงความถี่ (Selective Acoustic Gain) เหมือนเราเอามือป้องปากแล้วพูดหรือตะโกน ทำให้เสียงโด่งขึ้นมากว่าปกติที่ช่วงความถี่จำกัด หนึ่งตามขนาด และสรีระของฮอร์นเอง
    การโด่งขึ้นมา ทำให้เสียงหลุด ลอยพุ่ง ฟังแล้วหลอกหูว่าเหมือนมันสมจริงกว่า ยิ่งถ้าเอาไปฟังกับชุดเครื่องหลอดบางเครื่องที่มีการกดการสวิงของเสียงไว้ (ดูข้ออื่นประกอบ) หรือฟังกับจานเสียง,แผ่น CD ที่ใช้มาสเตอร์เก่าสมัย ใช้บันทึกลงจานเสียง ซึ่งพวกนี้มีการกดการสวิงเสียงไว้เช่นกัน
    เมื่อฟังผ่านลำโพงฮอร์นที่ช่วย โด่ง เสียง ก็จะหลอกหูเหมือนการสวิงเสียงดีขึ้น ไม่ถูกกดไว้ ก็จะหลงว่า ลำโพงฮอร์นให้เสียงดีกว่าระบบลำโพงยิงตรงปกติทั่วไป สังเกตว่า พอเล่นจากแผ่น CD ที่มาสเตอร์สมัยปัจจุบันที่ไม่มีการกดการสวิงเสียงไว้ แผ่นก็จะฟ้องอาการโด่ง โพล่ง ขึ้นมาของลำโพงฮอร์น ก็จะ “หลง” เข้าใจว่า แผ่น CD พวกนี้บันทึกไม่ดี หรือฟังจากจานเสียง หวาน ผ่อนคลาย สมจริงกว่า
    ในทางกลับกัน ถ้าฟังจากจานเสียง หรือแผ่น CD มาสเตอร์โบราณที่กดการสวิงเสียงไว้ ก็จะหลงเข้าใจว่า ลำโพงฮอร์นให้เสียงหลุด (Live) สมจริงกว่าลำโพงปกติทั่วไป
    สังเกตุว่า
    - ลำโพงฮอร์นที่ออกแบบไม่ดี จะเกิดเสียงอู้ก้องจากการโด่งนั้น (Resonance)
    - ยังไม่เคยเจอลำโพงฮอร์นใหญ่ๆไหนให้เสียงมีทรวดทรง 3 มิติดีได้ตลอดทุกช่วงความถี่
    - ให้เวทีเสียงได้แต่ความกว้างแผ่เป็นหน้ากระดาน ถ้าจะได้ความลึกก็เกิดจากเสียงที่ต้องมีความกังวานสักนิด บันทึกค่อยหน่อยและไม่อยู่ในช่วงการทำงานของฮอร์น (เพื่อหนีการโด่ง ลอยออกมา) บางครั้งการโด่งจะหลอกหูว่า นักดนตรีมีการขยับเดินเข้าเดินออกหรือเสียงร้องหลุดลอยออกมาอยู่หน้าเราอย่างดี (จริงๆมันถูกฉายหรือ Project ออกมาไม่ใช่เป็นตำแหน่งจริงในวงของมัน)  สังเกตว่าจะไม่สามารถวางตำแหน่งชิ้นดนตรีจากหน้าไปหลังไล่เรียงกันไปเป็นลำดับชั้น (Layer)แบบ Perspective ได้
    - ความก้องของฮอร์น ความดังที่โด่ง (ไม่เป็นเส้นตรงหรือ Linear) ของฮอร์น การสาดเสียงออกมาของฮอร์นจะลดความเงียบสงัดภายในวงกลบรายละเอียดเล็กๆน้อยๆค่อยๆ (Texture หรือเสียงผิวหายหมดแล้วก็ดิ้นรนหา Super Tweeter มาสร้างขอบเสียงหลอกหูเป็นรายละเอียดดี) ลดช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีในวง
    - ขนาดของนักร้อง,เครื่องดนตรี บิดเบี้ยวไปหมด (Scale มิติเละ)
    - ตำแหน่งชิ้นดนตรีในวงจะแกว่ง วอกแวก ไม่นิ่ง (แล้วก็แก้ตัวกันว่าเป็นการขยับไปมาของนักดนตรี)
    - ถ้าเป็นปากแตรแนวราบ สาดเสียงกระจายในแนวราบ จะยิ่ง แหก ส่วนที่ประกอบเป็นโน้ต 1 ตัว คือลดการซ้อนสอดรับของเสียงจากแต่ละดอกลำโพงให้รวมเป็นจุดเดียวกัน (Point Source)
    จึงมีบางยี่ห้อเริ่มตะหนักถึงจุดนี้และออกแบบปากแตรให้วางตัวในแนวตั้ง เพื่อสาดเสียงในแนวตั้งจะได้สอดรับกับเสียงจากดอกอื่นๆเพื่อดำรงความเป็น Point Source มากที่สุด (Point Source คือ ทุกความถี่กระจายออกมาจากจุดเดียวกัน)
  12. การเน้นจังหวะจะโคนอย่างผิดๆ
    ความสนุก มันส์ ในการฟังโดยเฉพาะเพลงที่เร็วๆ เน้นจังหวะ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอันเป็นตัวช่วยเติมอารมณ์นี้คือ การให้จังหวะจะโคนหรือ Rhythm ที่ชัดเจน ถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่จะเข้าใจผิดคิดแต่ทำการเน้นหัวโน้ตเพื่อเน้นจังหวะ จริงๆเป็นความเข้าใจผิด จังหวะจะโคนที่เป็นธรรมชาติต้องเกิดจากความถี่หลัก,ฮาร์โมนิกส์ทั้งหลายของมัน สอดรับเป็นเนื้อเดียวกันที่สุดในเรื่องการเกิดดับหรือ Timming ไม่มีการมาช้า-เร็วกว่ากัน
    จริงๆ เป็นสิ่งทำได้ยาก จึงแทบไม่มีใครคำนึงถึง ดูเผินๆเหมือนไม่สำคัญนัก แต่ถ้าทำได้จะฟังเพลินอย่างมาก

บทสรุป

อันตรายอย่างหนึ่งของการฟังอย่างหลงผิดคือ

ความหิวโหย สำหรับผู้ที่ฟังเครื่องเสียงชุดที่ขาดเสียงอะไรอยู่ มักโหยหา อยากได้สิ่งนั้นเป็นอันดับแรก เมื่อไปพบอุปกรณ์หรือชุดที่มีสิ่งนั้นอย่างล้นหลามก็จะกระโจนเข้าใส่ เพียงเพื่อจะพบว่าไม่นานก็จะสำลักสิ่งที่ได้มา เกิดอาการเลี่ยน เบื่อ

การวิเคราะห์ที่มองแง่มุมเดียวปลายเหตุ มิได้มองลึกถึงสาเหตุ ต้นเหตุ องค์ประกอบรอบข้าง สภาวะรอบข้าง

เสียงจัด ปลายแหลมออกล้ำหน้า ทิ่มแทงไปหน่อย น่าจะหาทางลดมันลง

สาเหตุ อาจเป็นเพราะเสียงกลาง,ทุ้มถอยจม แบน ฟุ้ง ไม่มีรูปลักษณ์ตัวตน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการสั่นสะเทือนของตัวเครื่อง ไม่ว่าเครื่องเล่นแผ่น,ปรี,เพาเวอร์แอมป์ ให้ลดการสั่นให้มากที่สุด จะได้เสียงกลางและทุ้มที่มีมวลขึ้น มีทรวดทรงขึ้นและหลุดลอยออกมาทับซ้อนกับแหลมได้ ทำให้แหลมไม่ “โดด” จึงฟังนุ่มนวล ผ่อนคลายขึ้น

อีกสาเหตุ ไม่ใช่จากการสั่นสะเทือนแต่มาจากคลื่นขยะความถี่สูง RF ภายนอกเข้ามากวน (กวนได้ทุกเครื่อง) ทำให้เกิด อาการ ปัญหาอย่างเดียวกับการสั่นกวน ให้แก้โดยหาวิธีลดการรบกวน หาวัสดุมาบังกั้นคลื่น RF เหล่านั้น (คลื่นพวกนี้ ได้แก่  จากระบบโทรศัพท์มือถือ ระบบ WiFi ในห้อง (ข้างห้อง,ข้างบ้าน) จากเสาส่งทอดคลื่นโทรศัพท์ที่หลังคาตึก ที่เราอยู่

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459