000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > เครื่องเสียงบ้าน > เจาะลึกขาตั้งลำโพงหรือชั้นวางเครื่อง
วันที่ : 12/06/2016
18,692 views

เจาะลึกขาตั้งลำโพงหรือชั้นวางเครื่อง

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

คงไม่ปฏิเสธว่า ลำโพงวางหิ้ง เป็นลำโพงที่ขายดีกว่าลำโพงวางพื้นมาก เชื่อว่าน่าจะในอัตราส่วนถึง 1:8 ทีเดียว คือวางหิ้ง 8 คู่ วางพื้น 1 คู่ เหตุผลก็คือ

  1. ปัจจุบันลำโพงวางหิ้ง ระดับกลางขึ้นไปทำมาได้ดีกว่าเมื่อ 30 ปีมาก ดอกลำโพงกลางทุ้มแค่ 6 นิ้ว 1 ดอก ดอกแหลมอีก 1 ดอก ก็สามารถให้เสียงทุ้มได้พอเพียงทั้งปริมาณและคุณภาพ (ตามราคาด้วย) ขนาดว่าลำโพงวางพื้น 8 นิ้ว 2 หรือ 3 ทางในอดีต 30 ปีที่แล้วกระเด็นได้ก็แล้วกัน จากการที่ภาคขยายเสียงกำลังขับสูงๆ มีราคาถูกลงและวัสดุที่นำมาทำดอกลำโพงพัฒนาขึ้นมากประกอบกับการออกแบบวงจรแบ่งเสียงและตัวตู้ทำได้ตรงเป้าขึ้นจากการคำนวณและจำลองการใช้งาน วิเคราะห์ ของคอมพิวเตอร์และเลเซอร์
  2. ลำโพงวางพื้นจึงต้องหนีไปเพิ่มจำนวนดอกลำโพงแทน เช่น ใช้ดอกกลางทุ้ม 2 ดอกคู่ บนล่างของดอกแหลมที่อยู่ตรงกลาง หรืออยู่ด้านบนสุด หรือดอกแหลม 1 ดอก,ดอกกลางทุ้ม 1 ดอก,ดอกทุ้มเท่าดอกกลางทุ้ม (ดอกเหมือนกันหรือต่างกัน) อีก 2 ดอก การลดขนาดดอกกลางทุ้มและทุ้มลง โดยอาศัยใช้จำนวนดอกมากขึ้นนัยว่าเพื่อลดความกว้างของตัวตู้อันจะช่วยให้กระจายเสียงได้กว้างขึ้นมากดอกทำให้รับกำลังขับได้สูงขึ้น (โดยเฉพาะกับลำโพงที่ใช้ทั้งดูหนังและฟังเพลง ที่ต้องรับการสวิงเสียงได้สูงมาก) บ้างก็เพิ่มดอกซับ 8 – 10 นิ้ว (12 นิ้วก็พอมี) ไว้ด้านข้างของตู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมหนีไม่พ้นที่ต้องเป็นลำโพงแบบวางพื้น

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่า ความเป็นลำโพงวางพื้นไม่เสมอไปที่จะต้องให้ปริมาณและคุณภาพเสียงทุ้ม ดีกว่าลำโพงวางหิ้ง นอกจากลำโพงวางพื้นนั้นๆถูกออกแบบมาอย่างปล่อยฝีมือเต็มที่ และใช้ความได้เปรียบของขนาดตู้และขนาดหรือจำนวนดอกลำโพงที่มากกว่า เพื่อให้ได้เสียงทุ้มที่ดีที่สุด อย่างนี้ลำโพงวางหิ้งไหนก็คงสู้ไม่ได้ แต่นั่นก็หมายความว่า ราคาที่มักสูงลิบของลำโพงวางพื้นนั้นเป็นเงาตามตัว

สรุปก็คือ ลำโพงวางหิ้งจะยังคงเป็นขวัญใจของวงการลำโพงในวงกว้างอยู่ดี

การเล่นลำโพงวางหิ้ง

ในอดีต คำว่า “ลำโพงวางหิ้ง” มักเข้าใจกันว่า ซื้อมาเพิ่ม “วางบนหิ้ง” จริงๆขนาดร้านขายลำโพงก็ยังนำลำโพงวางหิ้งมาวางบนชั้นวางเรียงเป็นตับในห้องลองเสียง ไม่ได้เอามาวางลอยบนขาตั้งอย่างปัจจุบัน

ในแง่ผู้บริโภคก็ทำตาม คือ เอามาวางบนหิ้งที่ติดกับกำแพง หรือวางบนตู้โชว์ชั้นวาง ช่องของเฟอร์นิเจอร์แบบติดผนัง (BUILT IN)

เมื่อเหตุการณ์เป็นแบบนี้ ก็ไม่มีใครสนใจพูดถึง ขาตั้งวางลำโพงวางหิ้งกัน

ปัจจุบัน เมื่อลำโพงถูกออกแบบมาโดยผู้ออกแบบและผู้ผลิต เริ่มหันมาให้ความสำคัญของมิติเสียง ทรวดทรงชิ้นดนตรีเป็น 3 มิติ เวทีเสียงที่นอกจากกว้างแล้ว ต้องมีแผ่ออกมาหาเราและลึกไกลไปหลังเวที มีสูง-ต่ำ เสียงที่ต้องกระจ่างชัด ช่องไฟระหว่างตำแหน่งชิ้นดนตรี ระหว่างตัวโน้ตการสวิงเสียงที่ค่อยต้องค่อยแทบกระซิบ ดังก็ต้องโหมสวิงโด่งขึ้นมาได้แบบไม่อั้น ความกังวานที่เปิดโปร่งทะลุ ไม่ใช่ขุ่นมัวมั่วๆ

ยิ่งแหล่งรายการดีขึ้น จากการฟังจากจานเสียง มาเป็นเทป มาเป็น CD Blu-ray รวมทั้งการดูหนังระบบเซอร์ราวด์รอบทิศ

ปัจจัยทั้งหมดนี้ได้ช่วยกันฟ้องว่าการนำลำโพงวางหิ้ง มาวางบนชั้นวาง,หิ้ง,ตู้เฟอร์นิเจอร์ เข้ามุม ชิดกำแพง หลังตู้สูง ไม่ใช่สิ่งอันพึงประสงค์ได้อีกต่อไป เพราะมันจะทำลายความต้องการเสียงและมิติที่ถูกต้องลงทั้งหมด

ทางออกเดียวคือ ต้องย้ายตู้ลำโพงวางหิ้ง (BOOKSHELF) เหล่านั้นหนีห่างออกจากชั้นล่าง (ที่จะก้องเสียง) จากมุมห้อง (อู้เสียง) จากช่องในตู้เฟอร์นิเจอร์ (ดุจตู้ซ่อนตู้) อันทำให้เสียงก้องอู้และแน่นอน มิติเสียงก็จะฟุ้ง มั่ว เละไปหมด การสวิงเสียงไม่ขึ้น รายละเอียดค่อยๆถูกเสียงอู้ก้องกลบหมด เป็นอันหมดยุคการวางเช่นนี้ แม้ยังมีบางคนไม่เข้าใจ ยังใช้อยู่ แต่นักฟังรุ่นใหม่ๆไม่มีใครวางหิ้งกันอีกแล้ว แต่นำตู้ลำโพงมาวางบน “ขาตั้ง” ที่มีขนาดทรวดทรงพอๆกับความกว้างยาวของตู้ลำโพงเอง และจัดวางหนีห่างจากมุมห้องและฝาห้อง พื้นห้อง ให้ตู้ลำโพงดุจลอยตัวในอากาศได้อย่างอิสระที่สุด นับเป็นการเปิดตัวของยุค “ขาตั้งลำโพง” อย่างแท้จริง

ขาตั้งลำโพงไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์

คำว่า “ขาตั้ง” ไม่หมายความว่า เอา “อะไรก็ได้” มาทำเป็นขาตั้ง จริงๆแล้วทั้งวัสดุที่นำมาทำ,สรีระโครงสร้าง,การผลิต,การประกอบ,ขนาด และน้ำหนัก ทั้งหมดล้วนมีผลต่อคุณภาพเสียงที่จะได้อย่างยิ่งทั้งนั้น จากองค์ประกอบหรือตัวแปรถึง 6 อย่างก็เหมือนมีส่วนผสม 6 อย่าง ที่จะต้องจัดสัดส่วนกันได้อย่างลงตัว สมดุลที่สุด

บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ขาตั้งยิ่งหนักยิ่งดี หรือต้องมีขนาดใหญ่ หรือต้องใช้เหล็ก (ชนิดของเหล็กอีก) ปูน,ไม้ ต้องมีขากี่ขา,ขาตั้งตรง-ขาตั้งเอียง,มีเดือยแหลมแบบไหน,ใส่ทรายหรือไม่ (ทรายจากที่ไหน),ใส่ลูกปืนไว้ในขาหรือไม่ เรียกว่า จับปูใส่กระด้งทีเดียว อย่าลืมว่า แต่ละตัวแปร (ใน 6 ตัว) ก็จะมีอีก 5 ตัวแปรให้ต้องพิจารณา มันจึงมีทางเลือกให้เป็นสิบๆร้อยๆ

นี่คือเหตุผลที่ ขาตั้งลำโพงบางคู่ ให้กลาง-แหลมดี แต่ทุ้มหายหมด บางคู่ให้ทุ้มดี แต่กลางแหลมหุบ บางคู่ให้เสียงทุ้ม,กลาง,แหลมเหมือนราบรื่นดีพอๆกันหมดแต่กลับสวิงเสียงไม่ขึ้น บางคู่เสียงครบ สวิงดีแต่ทุ้มห้วนลงไม่ลึก บางคู่เวทีเสียงกว้าง แต่ทรวดทรงไม่มี ชิ้นดนตรีไม่โฟกัส บางคู่รายละเอียดหยุมหยิมค่อยๆหายหมด (ถูกกลบหมด) บางคู่ดีหมดแต่ไร้วิญญาณ ว่าไปแล้วไม่เกินเลยที่จะบอกว่า ขาตั้งดีๆที่จะใช้ได้กับลำโพงทั่วไป ออกแบบและผลิต ยากกว่าทำแอมป์หรือลำโพงเสียอีก ทำให้บางคนบอกว่า การหาขาตั้งลำโพงที่จะให้เสียงเสริมสอดรับ (MATCH) กับลำโพงวางหิ้งสักคู่แบบเป็นเนื้อเดียวกัน หาได้ยากทำได้ยากกว่าหาเมียเสียอีก

จงอย่าคิดที่จะออกแบบหรือแสวงหาขาตั้งลำโพงสักคู่ที่จะมา “ช่วยแก้ไข,เติมแต่ง,กลบเกลื่อน “ข้อด้อย” (ไม่ว่าขาดหรือเกิน) ของลำโพงสักคู่ เพราะข้อด้อยของลำโพง มักมีทั้งด้อย (ผิด) จากการออกแบบที่ให้ผลเสียแบบตายตัว (บุคลิกฝังอยู่) (STATIC) และแบบผันแปรอยู่ไม่สุข (DYNAMIC) มันเป็นความผิดพลาดแบบไม่อยู่นิ่งแน่นอน (DYNAMIC) จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะออกแบบขาตั้งให้ปรับตัวเองชดเชยตามความผิดที่ไม่แน่นอนไม่นิ่งของตัวลำโพง ว่าไปแล้ว ขาตั้งเองก็ไม่เคยจะให้การทำงานที่เสถียรและนิ่งสนิทได้อย่างแท้จริง ตัวมันเองย่อมให้คุณสมบัติที่แปรผันไปมาเมื่อถูกกระตุ้นสั่นจากตู้ลำโพงตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ดีที่สุดจึงต้องออกแบบให้ตู้ลำโพงนิ่งที่สุด เสถียรที่สุด (ทั้งด้านไฟฟ้า,อะคูสติก,กลไก) ไว้ก่อน เพื่อหาขาตั้งที่นิ่งที่สุดและเสถียรที่สุดเช่นกัน” ต้องไม่พยายามหรือคาดหวังให้ทั้งสองมาแก้ข้อด้อยของกันและกัน อันมีแต่จะกอดคอกันลงเหวหรืออกทะเลหาฝั่งไม่เจอ

ในเรื่องของวัสดุ ปกติก็มักนิยม “เหล็ก” ก็ยังต้องเลือกว่า จะเป็นเหล็กชนิดไหน บางคนบอกว่า ใช้เหล็กธรรมดาไม่ได้ (ที่ขายๆกัน ทำกันในบ้านเรา เป็นเหล็กธรรมดานี่แหละ) ต้องเป็นเหล็กกล้าที่ใช้ทำ “รางรถไฟ” หรือแท่นปั๊มไฮโดรลิก จริงๆแล้วเหล็กมีหลายแบบมาก ส่วนผสมก็ต่างกันไป (เช่น เหล็กคาร์บอน,เหล็กโครม เหล็กรีดร้อนรีดเย็น ฯลฯ)

เรื่องของขา จะเป็นขากลวงหรือขาตัน 1 ขา, 2 ขาหรือ 4 ขา ขากลมหรือขาสี่เหลี่ยม ขาเอียงเข้า-เอียงออก (มุมเอียงเท่าไร) ขาสูง-ต่ำเท่าไร ขาใหญ่ผสมเล็ก

เรื่องของการถ่วงน้ำหนัก จะใส่ทรายหรือลูกปืนไว้ในโพรงขาดี ใส่เท่าไร ทรายแบบไหน ลูกปืนขนาดเท่าไร ใส่เป็นปริมาณเท่าไร

นอตปลายขาแหลม (ทิปโท) จะเป็นขนาด,สรีระอย่างไร

ขนาด ขนาดของแต่ละขา,ขนาดฐานบน (ที่รองตู้ลำโพง)/ฐานล่างของขา,ขาสูง-ต่ำเท่าไร ฐานทั้งสองหนาเท่าไร

การเชื่อมต่อชิ้นส่วน จะใช้การอ๊อกแบบใด ทำอย่างไรให้จุดเชื่อมต่อเรียบเนียนเป็นผิวเดียวเนื้อเดียวกันตลอด (เพื่อลดการสะดุดของการถ่ายเทพลังงานไปตามขาตั้ง)  ใช้แก๊สเชื่อมหรือเลเซอร์เชื่อม (พลาสม่า) การตัดชิ้นส่วนจะตัดอย่างไรไม่ให้ขอบ,รอยต่อเกิดการแตกหักเครียดของโมเลกุล (จึงไม่ควรใช้การปั้มที่เป็น Shock Wave )

สีเคลือบ ควรเคลือบ,ชุบด้วยระบบใด พ่นสีดื้อๆหรืออาโนไดซ์หรือกาลวาไนซ์ชุบแข็งหรือไม่ กี่ชิ้น

ทำเสร็จแล้วจบอย่างไร ควรจบด้วยขบวนการอามอฟัสหรือไม่ (เพื่อปรับผลึกของโมเลกุล)

จะเห็นว่า แค่ตรงนี้ก็ปวดหัวระเบิดแล้ว มันไม่ใช่สักแต่ว่าก๊อบปี้ของยี่ห้อโน้นยี่ห้อนี้อย่างที่ทำๆกันอยู่ ทั้งของในของนอกหรือทำแบบให้ดูแปลก ดูสวย แต่ไม่มีเทคโนโลยี่ด้านเสียงรองรับ มีสักเจ้าไหมที่กล้าลงทุนซื้อตัววัดและวิเคราะห์แรงสั่น สะเทือน (Vibration Analyzer) อย่างของ บู แอนด์ แคร์ พร้อมชุดโปรแกรมการวิเคราะห์ เพื่อวิเคราะห์วิจัย ตัวแท่นรอง (ลงทุนตรงนี้ประมาณ 500,000 บาท) เครื่องวิเคราะห์คลื่นเสียง (Audio Spectrum Analyzer ระดับห้องวิจัยประมาณ 1 ล้านบาท (Audio Precision) เครื่องสร้างคลื่นเสียงอีกประมาณ 400,000 บาท,ห้องไร้เสียงสะเทือน (เอาแบบย่อมๆ) ประมาณ 800,000 บาท ชุดเครื่องเสียงที่ไว้ใจได้เพื่อการฟังทดสอบประมาณ 400,000 – 500,000 บาท)

การร่วมวิจัยวัสดุกับสถาบันวัสดุศาสตร์ (MTEC) ซึ่งคงต้องเตรียมงบไว้อีกสัก 300,000 – 500,000 บาท

เท่ากับว่าต้องมีงบประมาณ 3.5 – 4 ล้านบาทในการจะทำต้นแบบขาตั้งออกมา ยังไม่นับต้นทุนการผลิตจริงๆ

แต่ถ้าทำได้ก็หมายความว่าจะครองตลาดขาตั้งลำโพงแต่เพียงผู้เดียวได้เลยและน่าจะไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยหากแต่ทั่วโลกด้วย ผู้เขียนไม่เชื่อว่า พวกที่ผลิตขาตั้งลำโพงขายกันทั่วโลกทุกวันนี้กล้าลงทุนขนาดนี้ ในบ้านเราน่ะไม่มีแน่นอนอยู่แล้ว ในต่างประเทศเองก็ไม่น่าทำกันขนาดนี้อย่างเก่งก็แค่ลองผิดลองถูก ขายได้ก็ทำต่อ ขายไม่ได้ (ไม่ดี) ก็เลิก ออกรุ่นใหม่ จับแพะชนแกะ ลองผิดลองถูกไปตามเรื่องตามราว

แนวคิดของผู้เขียนอาจดูเพ้อฝัน แต่จริงๆแล้ว ลงทุนครั้งเดียวข้อมูลที่ได้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับขาตั้งหลากรุ่นจนถึงสามารถผลิตแต่ละรุ่นให้เข้าได้ดีที่สุดกับลำโพงแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อได้ด้วย มันยั่งยืนและไม่ต้องมีการบริการหลังการขาย น่าทำกว่าอุปกรณ์อื่นๆของเครื่องเสียงเสียอีกคือมันมีโอกาสปรับเปลี่ยนตัวแปรได้แทบไม่รู้จบ

นอกจากนั้น ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ในการทำชั้นวางเครื่อง วางโปรเจ็คเตอร์ (โดยเฉพาะพวก DLP ที่ควรนิ่ง ที่สุดของที่สุดเพื่อภาพที่คมชัดและมิติดีที่สุด) แท่นรองเครื่อง (ปรี,เพาเวอร์แอมป์,อินทีเกรทแอมป์ ,DAC, เครื่องเล่นจาน เสียง ,เครื่องเล่นCD,DVD,BD แท่นรองลำโพงวางพื้น แท่นรองเครื่องแปลงไฟ,รักษาระดับไฟ แท่นรองคอมเพรซเซอร์ และตู้เย็น (เพื่อลดเสียงหึ่งหวน และให้มอเตอร์วิ่งเรียบที่สุด ซึ่งจะทนที่สุด ประสิทธิภาพสูงสุด)

จะเห็นว่า มันสามารถขยับขยายไปได้ไม่รู้จบ จึงนับเป็นการลงทุนที่น่าสนใจมากทีเดียว (เซ้งร้านในศูนย์การค้าก็ยังแพงกว่า 5 – 10 เท่า แล้วยังไม่รู้จะขายของได้ไหม)

หมายเหตุทิ้งท้าย

ในเรื่องของขาตั้งลำโพงวางหิ้งบางท่านอาจสรุปง่ายๆว่า ถ้ามันลำบากนักก็เล่นลำโพงวางพื้นเสียก็สิ้นเรื่อง ก็ต้องสะกิดให้คิดสักนิดว่า ถ้าไม่ใช่ลำโพงวางพื้นระดับซุปเปอร์ไฮเอนด์ประเภทตู้ลำโพงข้างหนึ่งหนัก 30 กิโลกรัมขึ้นไป (บางคู่ ข้างหนึ่งเป็นร้อยกิโลกรัม 200 กิโลกรัมยังมีประเภท 4 – 5 คนแบก) และราคาว่ากันที่คู่ละ 3 – 4 แสนบาทถึง 3 – 4 ล้านบาทละก็ บอกได้เลยว่า ตัวตู้เองก็คำนึงถึงปัญหา “ความนิ่งและเสถียร” เช่นเดียวกับกรณีขาตั้งลำโพงทุกอย่าง มันก็คือ ลำโพงที่วางอยู่บนขาตั้งไม้ดีๆนี่เอง ก็ต้องมีการคำนึงวิเคราะห์ วิจัยการสั่น,การโยก,การสะสมพลังงานในตัว การกระจายสลายพลังงานสะสม พลังงานสะสมที่เกิดจากการสั่นแรงๆอย่างทันทีทันใด การสั่นค้างอย่างต่อเนื่อง จากนั้นนำไปสู่ขบวนการ ผลิตจริงต้องจัดทำอย่างไรให้เป็นไปได้มากที่สุด รับรองว่า ไม่หมูเช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นลำโพงวางพื้นถูกๆระดับล่างถึงกลางสูง ยิ่งต้องคำนึงถึงอย่างมาก เป็นไปได้ไหมที่ใครจะออกแบบ “ปลอกขาตั้ง” สำหรับประกบเป็นปลอกให้แก่ลำโพงวางพื้นให้นิ่งและเสถียรมากขึ้น อย่าคิดว่า เป็นลำโพงวางพื้นแล้วจะไม่ต้องง้อขาตั้งลำโพง...น่าคิดจริงๆ

หมายเหตุ 2

อย่าคิดว่า จะหนีปัญหาขาตั้งลำโพงง่ายๆด้วยการหล่อขาตั้งเป็นแท่งปูน คิดแต่ให้หนักที่สุดเพื่อนผู้เขียนลองมาแล้ว แท่นปูนหนักถึง 70 กิโลกรัม (ครับ...เจ็ดสิบกิโลกรัมต่อแท่ง) เอามาเป็นขาตั้ง ปรากฏว่า เสียงฟังไม่ได้เลย มีแต่กลางถึงสูง มวลเสียง เนื้อเสียง ความถี่ช่วงต่ำ หายเกลี้ยงหมด

หมายเหตุ 3

อยากเสนออีกแนวทาง ถ้าคุณใจถึงและแม่บ้านไม่โวย คือ ทำแป้นรองที่มีเสายึดจากพื้นห้อง พร้อมกับแป้นที่มีเสายึดกับเพดานห้อง (ปูน) อีกชุด แป้นทั้งสองจะประกบด้านบนและด้านล่างของตู้ลำโพงไว้ให้ลอยตัวอยู่ได้ (ด้วยเสาบนและเสาล่าง) โดยเสาทั้งสองมีเกลียวให้หมุนยืดหดเสาได้ เพื่อปรับลำโพงได้สูงต่ำตามต้องการพร้อมกับบีบอัดให้ลำโพงนิ่งที่สุด...นี่คือ สุดยอดขาตั้งลำโพง

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459