000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > กะเทาะเปลือกวงการเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ > ช่องทางการเข้าถึงลูกค้าเศรษฐี
วันที่ : 05/05/2016
6,868 views

ช่องทางการเข้าถึงลูกค้าเศรษฐี

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

  1. ต้องกัดฟันทุ่มทุนเปิดโชว์รูมในห้างหรูอย่างสยามพารากอน หรือ CENTRAL WORLD หรืออย่างน้อยก็อัมรินทร์พลาซ่า ซึ่งถ้าโชว์รูมขนาดใหญ่ก็ต้องจ่ายค่าเซ้งสัก 30 ปี ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ค่าตกแต่งอีกอย่างน้อย 3 ล้านบาท ค่าสต๊อกสินค้าอีกอย่างน้อยๆ 10 ล้านบาท พูดง่ายๆว่าต้องมีเงินสดประมาณ 40 – 50 ล้านบาทมาเล่น

    เพราะคงไม่มีเศรษฐีคนไหนที่จะเอาเงินหลายๆแสนบาทหรือนับล้านๆบาทมาซื้อเครื่องเสียงกับผู้นำเข้า (โชว์รูม) ที่โทรมๆ กิ๊กก๊อก อยู่ในศูนย์การค้าระดับล่างที่ไม่รู้ว่าจะเปิดร้านอยู่ได้ถึงปีหรือเปล่า จะเป็นเอเย่นต์ได้สักกี่ปี หรือเป็นแค่ “ลูกอีแอบ” หิ้วหรือสั่งสินค้าจากร้านค้าปลีกเมืองนอก (DEALER) มาขายแบบ “เฉพาะกิจ” วันนี้ขายพรุ่งนี้เลิก ปัดความรับผิดชอบ ไม่ได้เป็นตัวแทนแต่งตั้งจริงจากเมืองนอก ขายเสร็จ “ลอยแพ” ลูกค้าหน้าตาเฉย ดูง่ายๆ ร้านเล็กแต่สินค้าหลากหลายยี่ห้อเพียบ เปิดขายกันตามป่าเขาลำเนาไพร ในซอกซอยหมู่บ้าน ไม่ขึ้นห้าง

    อย่างไรก็ตาม การต้องลงทุนมหาศาลขนาดนี้ เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อผู้ที่อยากทำธุรกิจไฮเอนด์อย่างจริงๆจังๆ ตั้งใจจริงแต่ไม่มีทุน โดยเฉพาะสู้ค่าเซ้ง ค่าเช่าที่สูงลิบไม่ไหว บางทีอุตส่าห์ปั้นสินค้าแทบตาย วันดีคืนดีก็ถูก “ทุนใหญ่” แย่งเอเย่นต์ไปอย่างหน้าตาเฉย
  2. ต้องตกแต่งโชว์รูมให้น่าสนใจ โดยเฉพาะห้องฟังต้องใช้ได้จริง ไม่ก้อง ไม่หลอกหู อาจไม่ต้องหรูระยับก็ได้ ขอแต่ให้ฟังแล้วจับประเด็นได้ว่าอะไรเป็นอะไร แยกแยะของดีของเลวได้ (ห้องฟังประเภทตีไม้ระแนงเป็นร่องเลิกได้แล้ว ของแข็งมันจะดูดซับเสียงได้อย่างไร มีแต่ช่วยตีเสียงก้องใหญ่ให้เป็นฝุ่นเสียงคละคลุ้งเป็นความก้องเกลี่ยๆ เฉลี่ยทุกช่องความถี่เท่านั้น ทำลายอัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงกวน กลบรายละเอียดหยุมหยิมค่อยๆหมด ห้องแบบนี้เขาไว้ทำห้องแสดงดนตรีเท่านั้น รู้ไว้ด้วย)
  3. ต้องติดตั้ง (SET) ชุดให้เป็น ต้องโคตรพิถีพิถันทุกตารางนิ้ว นับตั้งแต่สายไฟ AC (ทิศทาง) ที่เข้าห้องเสียง ,การ ขันน๊อตสายไฟที่แผงจ่ายไฟใหญ่,ทิศทางสายต่างๆ,การยกหนีพื้นห้อง,การไม่วางเครื่องทับซ้อนกัน,การหนีห่างพวกจอภาพทั้งหลาย,การฟังทดสอบขาปลั๊กไฟ AC ,การเอียงลำโพง (ไม่รู้ว่าร้านขายเครื่องเสียงไฮเอนด์จะ “ขวางโลก” กันไปถึงไหนในการเอาแต่ตั้งลำโพงหน้าตรง ผิดทั้งหลักฟิสิกส์ของลำโพงและเสียทั้งสุ้มเสียง/มิติเสียง เดินเข้าร้านไหนตั้งลำโพงหน้าหันตรงให้ฟังละก็ เดินออกได้เลย จะขายของไฮเอนด์ยังไม่รู้เลยว่า เสียง/มิติที่ดีเป็นอย่างไร ควรติดตั้งอย่างไรให้ได้อย่างนั้น อย่าฝากชีวิตไว้กับคนหูหนวกตาบอดให้นำทางเลย)
  4. จากข้อ 3 นั้นหมายความว่า ทั้งผู้นำเข้า (นายทุนเจ้าของเอเย่นต์),ผู้ขายต้อง ฟังเป็น และติดตั้งเป็น ถ้ายังฟังไม่เป็น ยังคลำช้างหลงทาง อย่ามาขายไฮเอนด์เลย ไม่รุ่งหรอก ไม่ถูกฝรั่งหลอก ก็หลงหลอกคนไทยด้วยกันเอง วางผิดอย่างนี้จะได้รู้กันเสียทีว่า นักวิจารณ์คนไหนเจ๋งจริงหรือท่าดีทีเหลว มีแต่ราคาคุย วางฟอร์ม!
  5. ต้องอย่าหยิ่งผยอง ยโสโอหัง ดูหมิ่นลูกค้า เห็นแต่งตัวกระจอก หน้าตาบ้านนอกหรือกรรมกร ก็ไม่กุลีกุจรต้อนรับ จะบอกอะไรให้ ถ้าร้านคุณหรู มีแต่ของแพงแล้ว มีใครสักคน “กล้า” เดินเข้าร้านคุณ เดินดูชม (ฟัง) สินค้าละก็ ย่อมไม่ธรรมดา (กรุณากลับไปอ่านที่มาที่ไปของคนรวยทั้ง 5 สายพันธุ์ ข้างต้น) คนระดับล่างที่ทั้งชาติก็ไม่มีปัญญาเป็นลูกค้าคุณ พวกเขาไม่กล้าสะเออะเข้าหรอก
    แต่ก็ว่าไม่ได้ บ่อยๆที่ลูกค้าเป็นพวกเสี่ยดม เสี่ยชิม จริงๆไม่มีปัญญาซื้อหรอก แต่เป็นพวกนักเล่นตัวจริง ชอบตะเวนหาประสบการณ์ไปทั่ว พวกนี้มักเป็นที่พึ่งพาของเพื่อนฝูงขอคำปรึกษาในการเลือกซื้อเครื่องเสียง เขาอาจไม่ใช่ลูกค้าของคุณโดยตรง อย่างน้อยก็ในตอนนี้แต่อนาคตไม่แน่ (คนเรามันฟลุ๊คกันได้ไม่ใช่หรือ!) แต่ที่แน่ๆเขาอาจพาพี่น้อง,เพื่อนฝูง,ญาติโยมมาซื้อกับคุณได้ เพราะฉะนั้น จงอย่า LOOK DOWN (แปลว่า มองหมิ่น ,มองข้าม ,ดูถูก) ไม่ว่าใครก็ตามที่เดินเข้ามาในโชว์รูมของคุณเด็ดขาด
  6. เมื่อขายของไฮเอนด์ ทุกอย่างต้องไฮเอนด์ ความสะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบของโชว์รูม,พนักงาน,ห้องน้ำ,โซฟา (ไม่ใช่ทั้งปีไม่เคยดูดฝุ่น นั่งทีไรคันยิกๆจากตัวไรทุกที) แคตตาล็อคต้องพร้อม เมืองนอกไม่ให้มา (ไม่พอ) ต้องจัดทำเผื่อไว้ คำว่า ไม่มี ,หมด ,วันหลังมาเอา ,แล้วจะส่งตามไป ฯลฯ ต้องไม่นำมาเป็นข้ออ้าง แม้กระทั่งการแต่งตัว,บุคลิกของคนขาย,พนักงานต้องสะอาด,เรียบร้อยอาจไม่ต้องหรูหราถึงขั้นใส่สูทผูกไท (แสดงความเป็นขี้ข้าฝรั่งตะวันตก) แต่อย่างน้อยบุคลิกหน้าตาคนขายควรดูแล้วน่าเชื่อถือ ไม่ใช่บุคลิกล็อกแล็กไม่น่าไว้ใจ หน้าตาอย่างกับโจรหรืออกกระเทย, ตุ๊ด หนวดเคราเฟิ้มอย่างกับมาเฟีย กลิ่นตัว กลิ่นบุหรี่หึ่ง

    เป็นเรื่องแปลกแต่สามัญ ที่ลูกค้ามักคุ้นเคยและให้ความเชื่อถือกับคนขายผู้ชายมากกว่าคนขายผู้หญิง อาจเป็นเพราะโดยธรรมชาติมีแต่ผู้ชายด้วยกันที่เล่นเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์หรือเขาจะรู้สึกเสียศักดิ์ศรีถ้าต้องขอคำปรึกษาจากผู้หญิง
  7. ถ้าโชว์รูมอยู่ในศูนย์การค้าหรู คนขายควรพูดภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างโอเคเป็นอย่างน้อย ต่อไปถ้าได้ภาษาญี่ปุ่นด้วยยิ่งดี (ในอนาคตจีนด้วย)
  8. ต้องมี “ทีม” ติดตั้งระดับไฮเอนด์ พร้อมที่จะไปแก้ปัญหาให้ลูกค้าถึงที่บ้าน ซึ่งแน่นอนพนักงานเหล่านี้ต้องไว้ใจได้ว่าจะไม่ไปทำให้ลูกค้าลำบากใจ (ไม่ระวังต่อความเสียหาย อะไรอื่นๆเช่นพื้น,เฟอร์นิเจอร์ของลูกค้า) ไม่มือๆไวแอบหยิบฉวย ขโมยของในบ้านลูกค้า ต้องไม่สูบบุหรี่ในบ้านลูกค้าเด็ดขาด ห้ามแบมือขอทิป (นอกจากลูกค้าจะเมตตา ถูกใจให้เอง) ห้ามเสนอขายไม่ว่าอะไรก็ตามให้แก่ลูกค้า แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่เกี่ยวกับสินค้าของบริษัท (พูดง่ายๆว่าห้ามไซด์ไลน์เด็ดขาด) เพราะถ้ามีปัญหาลูกค้าจะโทษเด็กและลามมาถึงบริษัทได้ มีกรณีปัญหาเกิดเยอะมากพอที่จะกำหนดเป็นข้อห้าม (ตรงนี้บริษัทฯ ต้องจัดสมดุลรายได้ให้เด็กดีๆ ไม่อย่างนั้นเด็กหนีไปอยู่ที่อื่นหมดเพราะอยู่นี่ไซด์ไลน์ไม่ได้)
  9. ต้องมีแผนกรับของเทิน (ของเก่า) จากลูกค้า ไม่ว่าของบริษัทเองที่ลูกค้าซื้อไปหรือของเดิมที่ลูกค้าใช้อยู่ ลูกค้าพวกนี้ถึงแม้เป็นคนมีเงินก็จริง แต่เขาคงทนไม่ได้ที่จะซื้อของใหม่ขณะที่ของเก่าก็คา,รก เต็มบ้าน เกะกะ ต้องคอยตอบคำถามแม่บ้าน บางครั้งมันไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว คิดดูว่า ห้องฟังหรือห้องรับแขกของเขาตกแต่งอย่างหรูเริด ค่าตกแต่งเป็นล้าน แต่ต้องมารกด้วยลำโพง ด้วยเครื่องที่ไม่รู้จะวาง (เก็บ) ไว้ที่ไหน

    ยิ่งถ้าเป็นเศรษฐีแบบหัวการค้า ยิ่งรับไม่ได้กับการ “จม” ของเก่าแบบดูไร้ค่า แทนที่จะออกตัวไปหักกับค่าของใหม่ได้ มาก-น้อยว่ากันไป แต่ไม่ใช่ต้องมาจมเป็นเศษขยะราคาแพง

    บอกได้เลยว่า ถ้าคิดจะขายเครื่องเสียงไฮเอนด์แต่ปฏิเสธที่จะรับเทินของเก่า ก็คงต้องนั่งตบยุง รอแต่ลูกค้าประเภท “เปิดบริสุทธิ์” ซึ่งชั่วโมงนี้หายากพอๆกับงมเข็มในมหาสมุทร อาจได้บ้างจากต่างชาติที่มาตั้งรกราก (ชั่วคราว) ในเมืองไทย ไม่ได้แบกเครื่องเสียงมาด้วยหรือลูกค้าเงินมืด,เงินฟลุ๊ค ที่ในชีวิตเพิ่งมีปัญญาเล่นไฮเอนด์กับเขาหรือพวกฟอกเงินมืด

    ในการรับของเทินก็ต้องบริหารให้ดีๆ ต้องสามารถ “ปล่อย” ของได้เร็วที่สุด มิเช่นนั้นเงินทุนจะ “จม”กับของเก่าจนตัว “กำไรของใหม่” ไม่พอมาเลี้ยงบริษัทจนเจ๊งในที่สุด (เห็นมาเยอะแล้ว)

    ความสามารถ,ช่องทางในการ “ปล่อย” ของเก่าได้อย่างมี “ประสิทธิภาพ” ที่สุด จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นยอดขายและเป็น “ความอยู่รอด” ของบริษัทที่สำคัญที่สุด (มันยิ่งกว่าค่าใช้จ่ายปกติเสียอีก)
  10. ความซื่อสัตย์ของพนักงาน นับตั้งแต่ฝ่ายผู้จัดการโชว์รูมไล่เรียงถึงพนักงานขาย อย่าลืมว่าเครื่องเสียงไฮเอนด์แต่ละชิ้นราคานับแสนนับล้านบาท ลองคิดดูว่า ถ้าทั้งโชว์รูมร่วมกันทุจริต สร้างลูกค้าเก๊ๆขึ้นมา หรือใช้พวกตัวเองวางมาดเป็นเสี่ยมาซื้อเพื่อหลอกผู้จัดการโชว์รูม เครื่องเสียงชุดหนึ่งสัก 4 ล้านบาทมัดจำ 10 % ก็สี่แสนบาททำ เป็นให้ไปส่งที่บ้าน ไปเก็บเงินที่เหลือที่บ้าน เด็กคนขายไปส่ง 2 คนแล้วหายหนีไปเลยพร้อมลูกค้า เป็นอันว่าบริษัทสูญเงินสามล้านหกแสนบาทฟรีๆ สมัยนี้เด็กขายของกล้าโกงแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง จากนั้นทีมโกงหาช่องทางไปปล่อยสักสามล้านสี่แสนบาท แบ่งกันแล้ว (3 คน) ก็ได้แล้วคนละล้านบาท ต้องไปเป็นลูกจ้างกี่เดือนกี่ปีกว่าจะเก็บเงินได้สักล้านบาท (เงินเดือน 10,000 บาททำงานไม่ต่ำกว่า 10 ปีจึงจะเก็บเงินได้ล้านบาท)

    กำลังจะบอกว่า เนื่องจากการขายสินค้าไฮเอนด์ มันเป็นเงินก้อนใหญ่ยั่วใจเด็กคนขายพวกนี้จะกล้าแลกหมัด ลองคิดดูว่าถ้าผู้จัดการเล่นด้วย เล่นกันเป็นทีม สร้างออเดอร์เก๊สัก 2 – 3 รายในแค่ 1 เดือน – 2 เดือน เงินสิบล้านไม่เหลือวิสัยที่พวกเขาจะโกงได้เลย น่ากลัวจริงๆถ้าเถ้าแก่ไม่ลงมาดูแลเองหรือระบบมีจุดโหว่ ก็ไปคิดหาทางปิดรูรั่วกันเอาเองก็แล้วกัน
  11. ระวังเด็กคนขายเล่นบทผู้หวังดี ทำทีเป็นช่วยเอาเครื่องเสียงเก่าของลูกค้าขนไปขายให้ อาจอ้างโน่นนี่เช่น อ้างว่าเสี่ย (เจ้าของบริษัท) เขาทำธุรกิจซื้อขายของเก่าส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับบริษัท แต่ไม่เป็นไร เด็กจะให้ลูกค้าหักเงินค่าของเก่าไปเลยเช่น ซื้อลำโพงคู่ละ 1 ล้านบาท เด็กตีของเก่าให้หกแสนบาท (จริงๆควรตีแค่สี่แสนบาทแต่เพื่อล่อให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่าย) แล้วให้ลูกค้าจ่ายส่วนต่างแค่สี่แสนบาทให้บริษัท เขียนเป็นเช็คเงินสดจ่ายบริษัทเลย เด็กก็จะนำเช็คนี้ส่งบริษัทๆทำเป็นว่าลูกค้าจ่ายมัดจำก่อน 40 % ซึ่งฝ่ายการเงินดูแล้วก็โอเค ลูกค้าคงไม่เบี้ยว เด็กก็จะบอกว่าลูกค้าขอเวลาบ้านเสร็จสัก 2 เดือนค่อยส่งของ ซึ่งผู้ใหญ่ดูแล้วสมเหตุสมผล จากนั้นเด็กก็จะเอาของเก่าไปวิ่งขาย ถ้าจะกินไกลต่อเนื่องก็จะขายพอมีกำไรสัก 2 – 3 หมื่นบาทก็รีบปล่อย แล้วเอาเงินหกแสนบาทมาจ่ายบริษัททำเป็นแคชเชียร์เช็ค (ตรงนี้บริษัทควรเอะใจ ทำไมการสั่งจ่ายไม่มีลายเซ็นลูกค้าเหมือนใบแรก!) เรื่องก็จบลงด้วยดี ทุกฝ่ายแฮปปี้ เด็กอาศัยโชว์รูมบริษัททำมาหากินซ้อนไปด้วย ถ้าหมุนเก่งๆมีเส้นสายเครือข่ายดีๆมีลูกค้าเก่าๆในมือ อาจหาเงินได้เดือนหนึ่งเป็นแสนบาทสบายๆ (แล้วทำไมบริษัทฯไม่ทำเสียเอง?)

    แต่ถ้าเด็กโลภ หมุนเงินก้อนโตๆขึ้นเป็นล้านๆบาทก็มีสิทธิ์จะคิดสั้น ชักดาบทั้งหมดเลย หรือถ้าหมุนไม่ออกหรือถูกลากเงินจากเครือข่ายอีกที ก็มีสิทธิ์ล้มเป็นลูกระนาด สุดท้ายบริษัทเจ็บตัว เด็กชะแว๊บหายเข้ากลีบเมฆ

    ยิ่งเด็กเป็นคนเก่าแก่ในวงการ ยิ่งมีโอกาส “ปั่น” แบบนี้ได้สูง ใครเป็นเจ้าของบริษัทก็ชะเง้อดูบ้าง เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือน
  12. ดังนั้น บริษัทต้องมีการตรวจเช็คย้อนกลับทุกขั้นตอน และต้องไม่ให้เด็กคนขายถือเงินเด็ดขาด ต้องแยกแผนกขาย,แผนกส่งของ,แผนกติดตั้ง,แผนกเก็บเงิน เป็นคนละส่วนกันหมด ต้องสื่อสารกับลูกค้าตลอดเวลา (KEEP CONTRACT) มีฝ่ายตรวจเยี่ยมลูกค้า (ถามจริงๆคุณจะปล่อยให้ลูกค้าเป็นลูกค้า “ส่วนตัว” ของเด็กหรือเป็นลูกค้าของ “บริษัท” แต่ก็ระวังอย่าให้เป็นการไปก้าวก่ายหรือแย่งลูกค้าของร้านขายปลีก ผู้ใหญ่,เจ้าของบริษัทอย่าไปเอง)
  13. ต้องสามารถจัดติดตั้งชุดสาธิตที่โชว์รูมให้เสียง/มิติออกมาเนี้ยบที่สุด พูดแล้วคุณอาจไม่เชื่อ ผู้เขียนได้ตะเวนฟังตามโชว์รูมเครื่องเสียงไฮเอนด์แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าแทบไม่มีโชว์รูมไหนจูนเสียง/มิติได้เข้าท่าเลย!! แล้วอย่างนี้จะสร้างความประทับใจให้ลุกค้าฟังแล้วเกิดความอยากจนทนไม่ไหวได้อย่างไร สักแต่ขายกันแบบอ้างคำวิจารณ์,รางวัลจากนิตยสารต่างประเทศ ที่เอาเข้าจริงก็มั่วสิ้นดีเช่นกัน (เงินมาผ้าเปิดอีกต่างหาก) ก็เพราะอย่างนี้ วงการนี้มันถึงมีแต่เตี้ยลงๆหดลงๆมีแต่ราคาคุยทั้งคนขาย,นักวิจารณ์ไทย-เทศ โธ่ ถ้าเสียงมันออกมาแทบไม่ดีกว่าชุดพื้นๆหรือแม้แต่มินิคอมโบจีนบางยี่ห้อ ถามว่าจะมีเสี่ยหน้าโง่ที่ไหนหลับหูหลับตาซื้อ
  14. ต้องรบกับของหนีภาษีหรือพวกสั่งมาเอง ขายแบ่งแบบเสียภาษี (GRAY MARKET) ต้องรบกับ ส.ม.ว.ก. (สมาคมมาตรฐานอุตสาหกรรม)ของรัฐบาล ส.ม.ว.ก.นั้นเซ็งที่สุดด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ของที่ควรเข้าใจได้ ควรง่ายก็กลับเป็นยาก ทำให้ผู้ทำธุรกิจเครื่องเสียงไฮเอนด์ท้อแท้อย่างมาก หลายคนอยากถอดใจ เลิกไปเลย ไปขายของหนีเสียเลยให้รู้แล้วรู้รอดยังปวดหัวน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้นำเข้าทำใจได้ แข่งด้วยบริการที่ถึงใจ การรับประกันที่ซื่อสัตย์ การต่อรองกับเมืองนอกเก่งๆ การเอากำไรแต่พองาม การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคว่า คุณซื้อของหิ้ว เมื่อขายออกตัว คุณก็ต้องขายในราคาของหิ้วซึ่งจะถูกคนซื้อต่อ “กด” ราคาอย่างมาก ขณะที่คนที่ซื้อของห้างจะขายได้ราคาดีกว่าพอสมควรเลย ไปๆมาๆกลายเป็นว่าได้เล่นของห้างในราคาที่แทบไม่ต่างจากของหิ้ว ขอให้พวกเราผู้บริโภคไปคิดดูดีๆ อย่าเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าอย่างเดียว

อีกอย่างคือ พวกหิ้วของมาขาย คุณแน่ใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่แอบถอดอะไหล่ของคุณไปซ่อมให้ตัวอื่นเป็นทอดๆกันมา หรือของนั้นไม่ได้ถูกขโมยมา หรือเป็นของที่ร้านขายปลีกที่เมืองนอกปิดร้านหนีตัวแทน ไม่จ่ายค่าของ และทางบริษัทแม่มีการแจ้งความและส่งหมายเลขเครื่องมาดักไว้ที่เอเย่นต์ทั่วโลก

โอเค อาจมีผู้บริโภคหน้ามืด หรือ มักง่ายบางคน เห็นดีเห็นงามกระโดดงับของหนีภาษี แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าผู้นำเข้ารู้จักทำการบ้านดีๆดังกล่าวแล้ว ก็จะยังขายของได้เอาตัวรอดได้

ขอบอกอีกครั้งว่า ผู้นำเข้าด้วยความร่วมมือจากเจ้าของสินค้าสามารถให้ทนายความยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย ต่อเว็บไซด์หรือการโฆษณาในสื่อใดๆที่ทำให้ผู้นำเข้าเสียหายได้ โดยอ้างว่า “เป็นการทำลายระบบการค้า” ไม่ว่าของนั้นๆจะเป็นของใหม่หรือของเก่า จะเสียภาษีถูกต้องหรือไม่หรือแม้แต่เป็นสินค้าของผู้นำเข้าจริงๆเอง ที่อเมริกาฟ้องร้องชนะกันมาแล้ว จ่ายค่าเสียหายกันทีร้อยกว่าล้านดอลล่าร์

          มาถึงบรรทัดนี้ หลายคนอ่านแล้วอาจถอดใจว่าทำไมการขายเครื่องเสียงไฮเอนด์มันถึงยุ่งยากวุ่นวายขนาดนี้ จริงๆแล้วถ้าเข้าใจและอ่านเกมส์ออกมันก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะดำเนินธุรกิจ ขอแต่ของที่สั่งมาขายหรือทำขายให้ดีจริงเท่านั้น โดยตัวผู้สั่งหรือผลิตต้องฟังเป็นจริงๆด้วยและควรมีใจรัก ขยัน อดทน มีสายป่านที่ดีพอ รับรองว่าไปได้

          อย่าลืมว่ายังไงๆธุรกิจเครื่องเสียงไฮเอนด์ ก็เหมือนขายงานศิลปะ มันมีเรื่องของศิลปะ,อารมณ์,ภาพพจน์ เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าเรื่องของเทคโนโลยี่แบบเครื่องเสียงหรือเครื่องAV ที่ขายกันแบบมากๆ (MASS) ซึ่งพวกนั้นมีแต่เร่งออก รุ่นใหม่กันทุก 3 – 6 เดือน เพิ่มแต่ฟังก์ชั่นไร้สาระใหม่ๆแล้วหาข้ออ้างให้ดูเป็นวิชาการ โดยตีบทแค่แง่มุมเดียว (ความจริงเสี้ยวเดียว) ไม่บอกความจริงครบทุกด้าน เครื่องเสียงพวกนั้นทุกวันนี้แข่งกันจนหมดมุข วันๆเอาแต่จ้องว่าคู่แข่งจะขายเท่าไร แล้วก็ขายให้ถูกกว่า แข่งกันไปตายจริงๆ ตายกันยกแผง ตั้งแต่โรงงาน,คนนำเข้า,ร้านค้าปลีก แก้ผ้าขายของกันแล้วขายไปร้องไห้ไป จนต้องหาเทคนิค ลับ-ลวง-พราง มาห้ำหั่นกันแล้วในทุกระดับธุรกิจ

คุณอยากกระโจนลงไปในวังวน ทรายดูด หลุมดำ นั้นหรือ? หรือจะตั้งใจทำธุรกิจเครื่องเสียงไฮเอนด์ที่ขายแล้วยังมีศักดิ์ศรีของความเป็นคนและศิลป์เหลืออยู่

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459